นาย อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย” ในโอกาสเป็นประธานเปิดการเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง “30 ปี กระทรวงวิทย์ ร่วมคิดวิสัยทัศน์รัฐบาลไทย” ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารสถานเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552)
นาย อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2522 ผมก็เกี่ยวข้องมาโดยตลอดด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม พันธุวิศวกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อ 10 ปีมาแล้ว และเมื่อครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผมได้มีโอกาสมาบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผมขอนำมากล่าวบางส่วน
ประการ แรก บทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 10 ปีข้างหน้า เพราะตอนนั้นผมพูดไว้ว่า 20 ปี ค.ศ. 2020 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชื่อในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาจจะเปรียบเทียบเหมือนสมอง ตับ ไต ปอด และอวัยวะบางส่วนของร่างกาย แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข เปรียบเหมือนกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท และอวัยวะบางส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะแขน มือ ขา และเท้า ดังนั้น หน่วยงานเหล่านี้ต้องทำงานใกล้ชิดกัน ซึ่งสมัยนี้ในหลวงท่านใช้คำว่า “บูรณาการ” ไม่ว่าจะไปพูดเรื่องอะไร ท่านก็บอกว่าต้องไปบูรณาการกัน เพราะว่าหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้ทำคนเดียว อย่างเรื่องน้ำ มีประมาณ 20 หน่วยงานทำ ฉะนั้นต้องบูรณาการกัน และเพื่อให้ผลงานวิจัยต่าง ๆ เกิดประโยชน์ก้าวหน้าแก่ผู้ใช้เทคโนโลยีและประชาชนได้อย่างเต็มที่ การทำงานต้องสนับสนุนสอดคล้องกัน ไม่ใช่แข่งขันและซ้ำซ้อนกัน เพราะตอนผมอยู่กระทรวงเกษตรฯ มองเห็นปัญหานี้ ก็ได้แจ้งว่ากระทรวงเหล่านั้น จะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เริ่มต้นวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อปี 2433 วิทยาศาสตร์การเกษตร กรมของผมที่เคยทำมา อายุประมาณ 100 ปี 2440 ส่วนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีในมหาวิทยาลัยสอนมา ในกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 2460 ต้องเรียนวิทยาศาสตร์หมด แต่เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ฉะนั้นถ้าท่านทำงานด้านวิทยาศาสตร์ก็อย่าลืมว่ามีวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มี pure และพื้นฐานต่าง ๆ ต้องทำงานด้วยกัน
2. งานวิจัยต่าง ๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีมากและหลายโครงการเป็นประโยชน์ถึงมือประชาชน ผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านสิ่งมีชีวิต เช่นทางด้านการเกษตร การแพทย์ ค้อนข้างจะมีมาก แต่งานด้านสิ่งไม่มีชีวิต ด้านอุตสาหกรรม วิศวกรรม และทางสังคม ค้อนข้างจะมีน้อยกว่า อาจเป็นเพราะนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยน้อยกว่า หรือสิ่งจูงใจทางด้านอื่นสูงกว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน่าจะปรับปรุงทางด้านนี้ ปัจจุบันประเทศไทยต้องสั่งเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมและวิศวกรรม เข้ามาใช้ภายในประเทศปีละมาก ๆ หากไม่สามารถทำได้เองต้องหาทางสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำการวิจัยในด้านนี้ให้ มากขึ้น
3. ขณะนั้นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานดูแลให้งานวิจัยมีสาขาต่าง ๆ 12 สาขา แบ่งเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ 6 สาขา ด้านสังคมและการศึกษา 6 สาขา ดังนั้นเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ควรจะสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นอยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งผมคิดว่า ควรเป็นส่วนกลาง ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) มีส่วนช่วยให้สำนักงานสภาวิจัยฯ กลับไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ผมถือว่าสำคัญ
4. งานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน กรมกอง และกระทรวงต่าง ๆ อีกมาก เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นมีคณะกรรมการดูแลสังกัดสำนักนายกฯ แต่ปัจจุบันผมไม่ทราบ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เคยทำ ปัจจุบันถูกตัดไป เหลือวิทยาศาสตร์กับ เทคโนโลยี เพราะสิ่งแวดล้อมสำคัญ มีคนนำไปตั้งกระทรวงใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดึงเอางานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปรวมกัน ถึงกระนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ กระทรวงนี้พยายามดูเรื่องน้ำ แต่เรื่องน้ำที่สำคัญที่สุดอีกกระทรวงหนึ่ง คือ กรมชลประทาน ปรากฏว่ายังอยู่กระทรวงเกษตรฯ มีผู้พยายามจะดึงกลับไปให้ได้ แต่กรมป่าไม้ไปหมดแล้วทั้งกรม
5. สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ยังด้อยพัฒนา คือเราไม่รวยค่อนข้างยากจน ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษา ขาดที่พึ่งทางใจ มีศรัทธาแต่ขาดสติปัญญา ข้าราชการบางส่วนมีความรู้ความสามารถ แต่ขาดคุณธรรม บางส่วนไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจของบ้านเมืองที่ใกล้ล้มละลาย และกลับความทุกข์ยากของผู้เดือดร้อน ข้าราชการก็ยังคงมีเงินเดือนทุกคน เมื่อ 10 ปีก่อนก็เป็นแบบนี้ คือ ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ข้าราชการสุขสบาย ถึงเวลามีเงินเดือน บางส่วนยังคงช่อราษฎร์ ทำการทุจริตต่อไปไม่หยุดยั้ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีบทบาทช่วยฟื้นฟูชี้นำในเรื่องเหล่านี้ โดยมาตรการต่อไปนี้
5.1. ผู้บริหารและผู้นำทุกหน่วยจะต้องมีสติปัญญารอบรู้ มีความสามารถ มีคุณธรรม มองกว้างไกล ใจกว้าง จัดอันดับความสำคัญของงานให้ถูกต้องและมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน งานไฮเทคโนโลยีบางอย่างมีประโยชน์ และมีความสำคัญ แต่ทหารและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็มีความสำคัญ ฉะนั้นต้องตัดสินใจเลือกลำดับความสำคัญให้ดี โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองมีภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ นักวิจัยส่วนใหญ่มักจะมองเห็นงานวิจัยของตัวมีความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่น อันนี้พูดเมื่อ 10 ปีก่อนนะครับ แต่ก็ยังประยุกต์ได้
5.2 การให้การศึกษากับประชาชนทุกระดับ ทุกท้องที่และทุกสาขา มีความสำคัญควรให้ทั่วถึง เพื่อให้คนของเราฉลาดมีสติปัญญา ไม่งมงาย แต่ปัญหาสำคัญคือการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีราคาแพง และเริ่มขาดบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอดกับชนบท แต่บุคลากรที่มีหน้าที่ฝึกอบรมและครู ตามกระทรวงต่าง ๆ ในชนบทมีอยู่มากพอสมควร แต่เขาจะแยกกันอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ เช่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณสุข และแยกกันทำงาน มีเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ฉะนั้นถ้าเรามีการสอนและฝึกอบรมวิชาการง่าย ๆ ก็น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในสถานการณ์เหล่านี้ได้กว้างขวาง และรวดเร็วกว่าการแยกส่วนกันทำเหมือนในปัจจุบัน แต่คนเหล่านี้ถ้ามาทำร่วมกันบางอย่างก็อาจจะทำงานได้มากกว่านี้
5.3 ประชาชนในชนบทยังยากจนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตร รายได้ต่ำสุดของประชาชนในชนบท คือ ชาวนา หรือเกษตรกร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะต้องมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญคือ
5.3.1 ข้าราชการส่วนใหญ่ยังอุทิศตนไม่เต็มที่ ยังแบ่งชั้นระหว่างข้าราชการและประชาชนอย่างชัดเจน ข้าราชการยังออกไปเล่นละครบ่อย ไปไถนา ถ่ายรูปแล้วก็กลับ ประชาชนก็ยังเหมือนเดิม ต้องพยายามทำให้จริงจังขึ้น และอย่าแบ่งชั้นกับประชาชนให้มาก ต้องพยายามให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
5.3.2 ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นปัญหาหลักสำคัญ การดำเนินการทุกอย่างยังไม่โปร่งใส และยังไม่มีข้อยุติ เช่นปัญหาที่ดิน สปก., นส.1, นส.3 และการออกโฉนดในป่าสาลวินเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เขื่อนศรีนครินทร์ ป่าท่าชนะ และอื่น ๆ ปัจจุบันมีปัญหาใหม่คือการเช่าที่ดินราคา 10 บาท ปัญหาของเราคือเราจะเลือกเกษตรกร ใครคือเกษตรกร คนที่ทำงานเกษตรตลอดเดือนไม่มี หลายคนต้องแยกไปทำงานนอก รับจ้าง ไม่มีใครทำงานเกษตร 100 % ปัญหาคือเกษตรกรทำงานทั้งวันไม่มี ต่อไปถ้าจะให้ใครเช่า นานเท่าไหร่ เอาที่ใครไปเช่า แต่ปัญหาตอนนี้การบุกรุกภาคเหนือ ที่ไปปลูกส้มภาคเหนือตามกฎกระทรวงที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ยังไม่มีการแก้ไข
5.3.3 ปัญหาของเกษตรกรและประชาชนที่รวมตัวเรียกร้องสิทธิ์ ยังมีปัญหาเกือบทุกเรื่อง ยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน มีผู้ที่เดือดร้อนจริง และรับจ้างเดือดร้อน รัฐบาลจะต้องคิดจำแนกปัญหาและแก้ปัญหาให้ถูกทาง ตามหลักอริยสัตย์สี่อย่างแท้จริง
5.3.4 ประชาชนชนบทยังพึ่งธรรมชาติในการประกอบอาชีพการเกษตร เขตชลประทานในบ้านเรา ตั้งแต่ผมเริ่มทำงาน จบเกษตรเมื่อประมาณเกือบ 40-50 ปีมาแล้ว เนื้อที่ชลประทาน 20 % เนื้อที่ใช้น้ำฝน 80 % ปัจจุบันไปเปิดตำราของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ก็ยังชลประทาน 20 % น้ำฝน80 % เราจะทำอย่างไรให้ใช้น้ำชลประทานในปัจจุบันอย่างประหยัด อย่างเช่น โครงการส่งน้ำจากเขื่อนชัยนาถแทนที่จะไปตามท่อซีเมนต์ มันมากับคลองดินธรรมดา มันหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ถ้าเรารักษาให้ดีลงทุนท่อเป็นซีเมนต์ อาจจะได้น้ำมาอีกเท่าตัว นี้เป็นสิ่งที่มองเห็น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน่วยงานอาจจะพยายามวิจัยหาท่อหรือวัสดุส่งน้ำราคาถูก ๆ เช่น ซีเมนต์ ทำวิจัยเรื่องของท่อซิเมนต์ ยางพารา น่าจะมาทำท่อผลิตภัณฑ์จากบ่อแก๊สธรรมชาติ เช่นพลาสติก การทำเขื่อนยางกั้นน้ำ การประดิษฐ์เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก ระบบฝนเทียมขนาดเล็ก เครื่องมือเกษตรขนาดเล็ก
การกสิกรรมบางอย่างที่ผิดธรรมชาติ เช่นการปลูกข้าวเป็นแปลงใหญ่ ๆ ใช้น้ำเยอะ ควรจะเน้นเปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสาน และเลียนธรรมชาติ ผมคิดว่าการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่แบบที่ในหลวงท่านพระราชทาน คือขุดบ่อเก็บน้ำ แล้วปลูกพืชผสมผสานคือสิ่งที่จะต้องแก้ไขในอนาคต เพราะการปลูกข้าวของเราส่งออกนอกจริง แต่เราต้องถากป่าดงดิบเก่าเพื่อมาปลูก เราต้องแก้กลับไปเพื่อปลูกไม้ยืนต้น
ข้อสุดท้ายผมพูดทั่ว ๆ ไปเมื่อ 10 ปีก่อนนะครับ ท่านรัฐมนตรีฯ และท่านปลัดกระทรวงฯ ควรเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอสมควร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรจัดระเบียบในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทำนองจดหมายเหตุ บันทึกประจำวัน หรือภูมิการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของกระทรวงฯ ในรูปแบบของเอกสาร ซีดี ซีดีรอม เพื่อให้รัฐมนตรีทุกคนทุกรัฐบาลสามารถศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ในอดีตและปัจจุบันได้ทันทีเมื่อรับงานในกระทรวงฯ ทำให้ตัดสินใจดำเนินงานไปได้อย่างถูกต้อง แทนการรอฟังคำบรรยายสรุปจากข้าราชการอย่างเดียว ข้าราชการทุกคนจะต้องทำงานอย่างนักวิทยาศาสตร์ มีความเชื่อมั่นตนเอง มีความภูมิใจ รักษ์ศักดิ์ศรีของตนเอง ก้าวหน้าด้วยความรู้ความสามารถของตนเอง อย่าซื้อขายตำแหน่ง อย่าให้ระบบอุปถัมภ์ต่อไปอีก และทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมและความเพียร