ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมหารือเรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตามยุทธศาสตร์ประเทศ โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงฯ ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ รองปลัดกระทรวงฯ และผู้อำนวยการ สอว. อธิการบดีและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประธานสภาหอการค้า กลุ่มอุตสาหกรรม ฯลฯ ประมาณ 50 คน ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ณ ห้องประชุม ปิ่น มาลากุล สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
![]() |
ที่ประชุมคณะรับมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการและกรอบงบประมาณของยุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (2556 - 2560) และโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประกอบด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา)
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ในฐานะที่เป็นแม่ข่ายของมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดตั้งและบริหารจัดการ โโยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือ จำนวน 6 แห่ง (รวมทั้งสิ้น 7 มหาวิทยาลัย) ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มอบนโยบายให้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) ทำำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการจัดตั้งโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มีภารกิจที่สำคัญคือ เป็นกลไกการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานความรู้และเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยผลักดันให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนทั้งในภาคเหนือและอนุภูิมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่การบรการด้านการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมพัฒนานวัตกรรม และการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนให้แก่ภาคเอกชน และยังเป็นกลไกสำคัญในการเตรียมความพร้อมของภูมิภาคเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเสนอโครงการ "นวัตกรรมข้าวไทยเพิ่มมูลค่าสู่ตลาดโลก" เป็นโครงการมุ่งเน้น (Focus project) โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ได้แก่
1) อุตสาหกรรมในโซ่คุณค่าของพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพรเมืองเหนือ และข้าว ครอบคลุมตั้งแต่เกษตรต้นน้ำด้านพันธุ์พืช ไปจนถึงอุตสหกรรมเกษตรแปรรูปผลิตภัณฑ์ และกระบวนการแปรรูปอาหาร
2) อุตสาหกรรม IT Software และ Digital content เชื่อมโยงอุตสาหกรรมการผลิต หัตถอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมออกแบบและสร้างสรรค์
3) อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ
4) อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และวัสดุด้านพลังงาน
นอกจากนั้นยังรวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ค่อนข้างมากในเขตภาคเหนือที่มีความตื่นตัวและมีความต้องการในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าของธุรกิจของตนเอง ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านการบริการและการท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและของตกแต่ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมที่สนับสนุน (เชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ) นอกจากนั้นยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโดหากมีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยมีการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการโดยอาศัยความพร้อมของอาคารสถานที่ เครื่องมือวิจัย ห้องปฏิบัติการ และสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงกลไกการสนับสนุนผ่านกิจกรรมการให้บริการต่างๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ (เครื่องสำอาง) อุตสาหกรรมการออกแบบ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และนายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732