![]() |
ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีในเปิดตัวโครงการเทคโนโลยีเพื่ออนาคต สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไทยเอสที (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) ภายใต้ สวทน. เปิดตัวนำร่อง “4 หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต”และ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือกับ 7 สถาบันการศึกษา โดยมี ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการไทยเอสที ศาสตราจารย์ ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) นายสมศักดิ์ บุญโพธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ดร.จุรินทร์ มิลินทสูต ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม นางอารี เมฆกมล รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม เป็นผู้ลงนามความร่วมมือ และมี ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายอภิชาต จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา ประธานสภาอุตสาหกรรม และผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไทยเอสที (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) กำลังดำเนินการสร้างองค์ความรู้สาขาวิชาใหม่ที่เป็นความต้องการของภาคผลิตและบริการ และเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต (S&T for the future) เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการแข่งขันกับนานาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว ไทยเอสที (THAIST) วางแผนการจัดการเรียนการสอนกับ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการปูทางเส้นทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับนักเรียนนักศึกษาอย่างน้อย 10 ปี และเส้นทางอาชีพที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษา เน้นในเด็กมีความสามารถและถนัดในด้านนั้นๆ มีการจัดงบประมาณและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะ รองรับการจัดการศึกษา การทำวิจัยพัฒนา และการสร้างนวัตกรรมในอนาคตโดยมีสาขาวิชาที่เปิดสอน เช่น นาโนเทคโนโลยี, เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotic & Automation), เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่ออนาคต, เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์, เทคโนโลยีการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรม (Design for Manufacturing and Innovation), เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางพารา, เทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง, Simulation Technology for Climate Change, นวัตกรรมเพื่อการเกษตร (Innovation for Agriculture), นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science), เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม, การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Management) เป็นต้น โดยมี 4 หลักสูตรนำร่อง ที่สามารถเปิดให้มีการเรียนการสอนได้ในปี 2556 -2557 ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง, นวัตกรรมเพื่อการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม ดังนี้
หลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง มีจุดประสงค์เพื่อผลิตวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ และดูดซับองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยไทยเอสที ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรเฉพาะทาง ออกแบบรายวิชา และสื่อการเรียนการสอนโดยมีการพิจารณามอบทุนการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และห้องปฏิบัติการล้ำสมัย เช่น ระบบเมืองจำลอง ระบบจำลองสถานการณ์การควบคุมความเร็ว เป็นต้น
หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการเกษตร (การปรับปรุงพันธุ์พืช และการผลิตพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงแก่ภาคเอกชน สนองยุทธศาสตร์ประเทศ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยเน้นการปรับปรุงพันธุ์ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ลำไย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่สามารถให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาการเพาะปลูก ต้านทานโรคและแมลง และมีคุณภาพด้านโภชนาการสูง สามารถสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตรงตามความต้องการของตลาดโลก และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ
หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม (หลักสูตรทักษะวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์) มีจุดประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตและผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และช่วยลดต้นทุนการนำเข้ายาชีววัตถุและเพิ่มมูลค่าจากการผลิตภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการปูทางให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพของภูมิภาคเอเชียในอนาคต ยาชีววัตถุนั้นแตกต่างจากยาทั่วไปเพราะได้มาจากสิ่งมีชีวิต ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษ เพื่อนำไปใช้รักษาและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ เช่น กลุ่มโรคเมตาบอลิก (โรคอ้วนพันธุกรรม/โรคเบาหวาน) และกลุ่มโรคทางโลหิตวิทยา ได้แก่ โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไต โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
หลักสูตรเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในเชิงกระบวนการผลิตและการสร้างนวัตกรรม มีความพร้อมในการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อทำวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูงต่อไป และสามารถเป็นผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีการนำไปประยุกต์ใช้ในงานหลายสาขา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในทางการแพทย์ หุ่นยนต์กู้ภัยและเก็บกู้ระเบิด หุ่นยนต์เพื่อการศึกษา และหุ่นยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกภายในบ้านและสำนักงาน เป็นต้น
![]() |
![]() |
ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการไทยเอสที กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดให้มีการเปิดตัว “4 หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต” โดย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไทยเอสที (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) สถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในสาขาเทคโนโลยีเฉพาะทาง เพื่อการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และรองรับการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคการผลิตและบริการ การพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด และการพัฒนาสังคมและชุมชน โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ การสร้างความมั่นคงสำหรับอนาคตของประเทศ โดย ไทยเอสที เป็นผู้กำหนดสาขาเทคโนโลยีและมาตรฐานคุณภาพบุคลากรที่ต้องการ และการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการออกแบบหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษา จัดให้มีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรองรับการเรียนการสอนและงานวิจัย รวมทั้งจัดตั้ง Industrial Service Unit เพื่อเชื่อมโยงและให้บริการกับภาคการผลิตและบริการ
![]() |
ทั้งนี้ ภายในงานยังมี 3 หุ่นยนต์ นะโม โอม และฮิวมานอยด์ มาร่วมสร้างสีสันท่ามกลางเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังคนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
เขียนข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวโดย : นายพิริยะ เผ่าพงษา
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท. 02-333-3732
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น (BrainAsia Communication)
Tel. : ประภาพรรณ 081-899-3599, วชิรา 086-3416567 อัครณัฐ 088-8857579
E-mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน