![]() |
นายโสภณ เพชรสว่าง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแบบอย่างความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2556 ณ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์
![]() |
![]() |
![]() |
(28 มิถุนายน 2556) เวลา 12.30 น. ณ ศาลาอเนกประสงค์ ชุมชนบ้านแสงตะวัน ตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดย นายชุมพร เรืองศิริ ผู้แทนชุมชน พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมถังและระบบกระจายน้ำสู่ไร่นา ประตูน้ำหนองรัง ประตูน้ำหนองจาน และหนองลำหาด
องค์การบริหารส่วนตำบลคอโค ก่อตั้งวันที่ 19 มีนาคม 2539 ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ด้วยพื้นที่ประมาณ 42.18 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 26,362.50 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 12 หมู่บ้าน มีประชากรประกอบอาชีพการเกษตร 80 % พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีความสูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยประมาณ 140 เมตร มีแหล่งน้ำธรรมชาติสายสำคัญคือ ลำน้ำชีและลำห้วยเสนง ทั้งสองสายมาบรรจบกัน ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของตำบลคอโคติดต่อกับเขตตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ มีสภาพเป็นป่าไม้ธรรมชาติขึ้นตามริมน้ำชี ตลอดสายจนถึงเขตตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ด้านทิศตะวันออกของตำบลคอโคติดต่อกับเขตตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์โดยมีลำห้วยเสนงคั้นระหว่างสองตำบล
ชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสนก. ชุมชนต้นแบบบ้านแสงตะวัน หมู่ที่ 4 เริ่มเมื่อ ปี 2554 ชุมชนขยายบ้านคอโค หมู่ที่ 1 และบ้านตราด หมู่ที่ 2 เมื่อปี 2555 และชุมชนขยายบ้านตะเตียว หมู่ที่ 10 ปี 2556 โดยแผนการใช้ระบบสารสนเทศในการจัดการน้ำภายในชุมชน ใช้เครื่อง GPS และแผนที่ วางโครงข่ายน้ำและที่ดิน ตลอดถึงทรัพยากรอื่นๆ ในชุมชน จัดอบรมเยาวชนการใช้เครื่อง GPS เบื้องต้น ภายในหมู่บ้านและตำบล เพื่อเสนอขอการสนับสนุน จากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำโครงข่ายน้ำตำบล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนใกล้เคียงและชุมชนอื่นๆ จากการใช้ระบบสารสนเทศในการจัดการน้ำภายในชุมชนนี้ ทำให้คนในชุมชนและชาวเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี จากการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร เป็นแหล่งผลิตอาหารไว้บริโภคและจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน ทั้งยังเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการบริหารการจัดการน้ำชุมชนและเกิดความร่วมมือกับภาคีท้องถิ่น
![]() |
![]() |
![]() |
(29 มิถุนายน 2556) เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านโนนขวาง ตำบลโนนขวาง อำเภอบ้านด่าน จังหวัดบุรีรัมย์ รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดย นายทองคำ ยิ้มรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารจัดการในพื้นที่น้ำแล้ง สระน้ำประจำไร่นา ระบบส่งน้ำหอสูง การจัดการป่าชุมชน
ตำบลโนนขวางเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ปัจจุบันขึ้นกับกิ่งอำเภอบ้านด่านแยกตัวเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี 2545 มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 9 หมู่บ้าน สภาพตำบลเป็นที่ราบ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร จำนวนประชากรในเขต อบต. 5,604 คน และจำนวนหลังคาเรือน 1,154 หลังคาเรือน อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน ทำไร่
อาชีพเสริม หัตถกรรม
ชุมชนจัดการปัญหาพื้นที่แห้งแล้งนอกเขตชลประทาน ด้วยการขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นาด้วยมือ ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการน้ำ แก้ปัญหาดินดาน ดินเค็ม และดินไม่อุ้มน้ำ สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี ลงมือทำการเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ปลูกแฝกและไม้ยืนต้นรอบสระ จัดทำปฏิทินการเกษตร จัดการพื้นที่เพาะปลูกหมุนเวียนต่อเนื่อง และวางแผนการปลูกพืชตลอดทั้งปี พัฒนาเป็นที่ทำการชาวนา และขยายผลเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
![]() |
![]() |
![]() |
(30 มิถุนายน 2556) เวลา 10.00 น. นายโสภณ เพชรสว่าง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร. รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดย นางสนิท ทิพย์นางรอง ผู้แทนชุมชน ณ โรงเรียนบ้านหนองทองลิ่ม ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารจัดการในพื้นที่น้ำแล้ง น้ำหลาก ระบบประปา คลองส่งน้ำ สระแก้มลิง ถนนน้ำเดิน และพื้นที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วม 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองโบสถ์ ตำบลชุมแสง ตำบลทุ่งแสงทอง สระแก้มลิงวังกระทะ สระแก้มลิงบุ่งทางเกวียน จุดแบ่งน้ำสู่พื้นที่น้ำแล้ง และพื้นที่บริหารจัดการน้ำของกลุ่มการผลิต
ชุมชนบ้านลิ่มทอง ประสบปัญหาภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการ อุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ปัญหาฝนทิ้งช่วง และขาดแคลนแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงไม่มีเหมืองน้ำผ่าน การจัดการน้ำของชุมชนจึงเริ่มต้นจากกระบวนการมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง โดยจัดตั้งคณะกรรมการน้ำชุมชน ดำเนินโครงการขุดคลองส่งน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำด้วยสระเก็บน้ำแก้มลิง สระเก็บน้ำไร่นา ใช้น้ำให้คุ้มคุณค่าด้วยการวางแผนการเพาะปลูก ทำเกษตรประณีต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการสำรวจ วางแผน และการจัดการน้ำ ตอบโจทย์สำคัญเรื่องน้ำชุมชน ด้วยแนวคิดว่าทำอย่างไรจึง หาน้ำได้ เก็บน้ำได้ ใช้น้ำเป็น และจัดการอย่างยั่งยืน ผลสำเร็จของการดำเนินงาน ชุมชนมีน้ำในการทำเกษตร การวางแผนการผลิต การผลิตเกษตรทฤษฎีใหม่ การแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต ผลผลิตเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่ม คุณภาพชีวิตดีขึ้น จนนำไปสู่การเป็นแม่ข่ายการบริหารจัดการน้ำชุมชน ซึ่งมีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมชลประทาน ชุมชน และภาคเอกชน เข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งในปัจจุบัน
ปัจจุบันบ้านลิ่มทองมีโครงการ 80 พรรษา ส่งน้ำถึงนา ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการจัดการน้ำระดับชุมชนตำบลหนองโบสถ์ และตำบลชุมแสง กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากการลงพื้นที่ทั้ง 3 วัน นายโสภณ เพชรสว่าง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบนโยบายให้แก่ชาวบ้านทั้ง 3 พื้นที่ กล่าวโดยสรุปความว่า ปัญหาสำคัญของเกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ คือ น้ำที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอ ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มทุน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่ชุมชน เพื่อช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และช่วยเพิ่มผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) นำแผนการใช้ระบบสารสนเทศในการจัดการน้ำภายในชุมชน โดยเริ่มจากวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนนั้นแล้วแก้ไขให้ตรงจุด ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งด้านภาพถ่ายดาวเทียมควบคู่กับใช้เครื่อง GPS สร้างแผนที่น้ำระดับชุมชนทำงานร่วมกับคนในชุมชน สำรวจแหล่งน้ำที่มีอยู่และสร้างแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี นอกจากเรื่องน้ำแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ อาทิ การทำปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน การผลิตแก๊สไบโอระดับครัวเรือน การผลิตยาฆ่าแมลงหนอนกะทู้ แมงหัวดำ จากเมล็ดมันแกว เป็นต้น
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ นายรัฐพล หงสไกร และนายพิริยะ เผ่าพงษา
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728 - 3732