(เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556) เวลา 09.00 น. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมแผนปฏิบัติงาน “โครงการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนการบริหารจัดการลำไยเพื่อการส่งออก” การอนุญาต การตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพโรงรม ให้ได้มาตรฐานการส่งออก และสร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรกรของประเทศ ร่วมกับ 5 จังหวัดภาคเหนือ ในการบูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อยกระดับการผลิตและระบบการตลาดลำไยคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งสร้างโอกาสด้านการตลาดให้กับเกษตรกรและชุมชน รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ อันเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแข่งขันเสรีจากการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ณ แกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่
![]() |
![]() |
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรรายสำคัญของโลกโดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาด้านคุณภาพและการจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดภาวะความผันผวนทางด้านราคา ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน ในระดับหมู่บ้าน สังคม กลุ่มเกษตรกร เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานยกระดับราคาสินค้าเกษตรและสร้างอาชีพที่มีศักยภาพของเกษตรกร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหน่วยงานวิจัย พัฒนา และจัดการองค์ความรู้ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิต สร้างองค์ความรู้ และสร้างอนาคต
![]() |
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ริเริ่มดำเนินการปรับปรุงคุณภาพและบริหารจัดการลำไยให้ได้มาตรฐานการส่งออก โดยการจัดทำแผนบูรณาการเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาและบริหารจัดการลำไยให้มีปริมาณและคุณภาพเพื่อการส่งออก ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยอาศัยการทำงานลักษณะบูรณาการทั้งหน่วยงานภายในและนอกกระทรวง เน้นการยกระดับการผลิตและระบบการตลาดลำไยคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา และน่าน ณ ห้องดวงตะวันแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมระดับต้นน้ำจะเน้นการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศภาพถ่ายดาวเทียมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการโซนนิ่งสวนลำไย รวมถึงการลงทะเบียนเกษตรกร การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อใช้ในการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร การถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่ เทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีระยะเก็บเกี่ยวผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมการแจ้งข้อมูลให้กับเกษตรกรผ่านระบบ SMS และสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมเกี่ยวกับองค์ความรู้ 52 สัปดาห์ ระดับกลางน้ำ เน้นการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงคุณภาพโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ให้ได้มาตรฐานสำหรับลำไยสด เทคโนโลยีการอบแห้งลำไย เทคโนโลยีการปรับคุณภาพห้องอบแห้งและประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีการยืดอายุและบรรจุภัณฑ์ การแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มลำไย และระดับปลายน้ำ เน้นการควบคุมคุณภาพผลผลิตลำไยที่เก็บจากสวนของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับ วท. รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตในระดับสวน (QC สวน) พร้อมพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบ QR Code รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาดลำไยที่อาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในต่างประเทศ ทั้งการพัฒนาระบบการตลาดเดิม (ประเทศจีน เวียดนาม อินโดนีเชีย) และการส่งเสริมตลาดใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด เช่น ประเทศอินเดีย เกาหลี มาเลเชีย อเมริกา เป็นต้น
![]() |
![]() |
ทั้งนี้ การใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการลำไยเพื่อการส่งออกดังกล่าว จะทำให้เกิดรูปแบบการผลิตและระบบการตลาดลำไยคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือที่สนับสนุนให้ราคาลำไยมีเสถียรภาพ สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้าใจต้นแบบการสร้างความยั่งยืนของระบบการผลิตผลไม้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรของประเทศไทย เพื่อการส่งออกต่อไป
เขียนข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
ภาพข่าวโดย : นายรัฐพล หงสไกร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ, นายพิริยะ เผ่าพงษา
หน่วยงานรับผิดชอบ
เจ้าภาพแผนบูรณาการ (MR. ลำไย)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
หน่วยงานร่วมบูรณาการ
- กรมวิทยาศาสตร์บริการ
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)