กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต “ผลงานกระทรวงวิทย์...คิดเพื่อคนไทย”

สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต “ผลงานกระทรวงวิทย์...คิดเพื่อคนไทย”

พิมพ์ PDF

กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมการสร้างงาน  สร้างเงิน  สร้างคุณภาพชีวิตด้วยผลงานกระทรวงวิทย์ฯ คิดเพื่อคนไทย  เป็นผลงานที่คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์  นักวิจัย นักเทคโนโลยี นวัตกร  ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ทำได้ทันที  และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมใน 7 เดือน  เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้  สอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

 

 

 

              

 

              ดร. คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานแถลงข่าว “สร้างงาน  สร้างเงิน  สร้างคุณภาพชีวิต : ผลงานกระทรวงวิทย์ฯ คิดเพื่อคนไทย”  ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถนนพระราม 9 เขตราชเทวี  กรุงเทพฯ (เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552)
               ดร.คุณหญิงกัลยา  กล่าวว่า “การที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ ตนเองได้เห็นผลงานโดดเด่นมากมายของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  อีกทั้งท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ฯ ย้ำเสมอที่จะให้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศและให้นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  และนวัตกรรมไปมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  และสิ่งสำคัญที่สุด ยังมีความตั้งใจ  มุ่งมั่น  ขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ชุมชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและสนองเบื้องพระยุคลบาทฯ
               ในโอกาสวาระครบรอบ 30 ปีกระทรวงฯ เผยแพร่ผลงานเพื่อสร้างงาน สร้างเงิน และคุณภาพชีวิตคนไทย  จึงคัดเลือกผลงานเด่นจาก 14 หน่วยงานๆ ละ 1 เรื่อง ที่สามารถดำเนินการเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน  เพื่อนำมาเผยแพร่และถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วนทั่วประเทศ  ภายใต้ชื่อ “สร้างงาน  สร้างเงิน  สร้างคุณภาพชีวิต : ผลงานกระทรวงวิทย์ฯ คิดเพื่อคนไทย”  เบื้องต้นผลงานที่ได้คัดเลือกแบ่งเป็นผลงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี 10 เรื่อง และผลงานด้านการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4 เรื่อง
               ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์  แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ผลงานทั้ง 14 โครงการ มีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไปตามบทบาทภารกิจหลักของหน่วยงานนั้น ๆ และเห็นว่าเป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายทุกระดับตั้งแต่ระดับนักเรียน เยาวชน นิสิตนักศึกษา ประชาชน ผู้ประกอบการ  กลุ่มแม่บ้านเคหะกิจ หรือหน่วยราชการ  โดยมีรายละเอียดของแต่ละโครงการ ดังนี้
               1.  เทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนระดับครัวเรือน (สป.วท.)  เป็นการลดปัญหามลพิษทางกลิ่นจากมูลสัตว์  ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร  ลดค่าใช้จ่ายในครัว เรือน  และยังได้พลังงานมาใช้ในฟาร์ม  และครัวเรือน  ดำเนินการโดยทีมวิจัยของคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในพื้นที่เชียงใหม่  อุตรดิตถ์  ลำปาง  นครพนม  อุดรธานี  ฉะเชิงเทรา  ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนปีละ 4,000 บาท  และต่อยอดเพื่อสร้างระบบไฟฟ้าชุมชนได้
               2.  การแปรรูปธัญชาติเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (วศ.)  เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอาหารและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์  แปรรูปธัญชาติที่ปลูกมากในท้องถิ่นมาสร้างผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป  กึ่งสำเร็จรูป อาหารเสริมสุขภาพ เพิ่มมูลค่า สร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์  ดำเนินการในพื้นที่ผลิตข้าวและธัญชาติใน จ. อ่างทอง  พิจิตร  พิษณุโลก  สกลนคร  สุพรรณบุรี ฯลฯ โดยถ่ายทอดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (OTOP SMEs) เช่น ข้าวสำเร็จรูป  เครื่องดื่ม  ธัญชาติ  ธัญชาติอัดแท่ง ข้าวเสริมสุขภาพ เป็นต้น  เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ 50-60 ราย  และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 50,000-100,000 บาท/ปี อีกทั้งสามารถส่งออกต่างประเทได้
               3.  การผลิตโปรตีนไหมด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตในนาข้าว (สทน.)  เป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมหม่อนไหมมาใช้ทำสารละลายผลไหม  โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์มาช่วยในการปรับปรุงต่อยอด  ดำเนินการในพื้นที่นาข้าวภาคกลาง จ.นครนายก  สุพรรณบุรี  อ่างทอง  กาญจนบุรี รวม 400 ไร่  สามารถเพิ่มผลผลิตในนาข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น 30 % หรือ 3,000 บาท/ไร่  พื้นที่ 400 ไร่ มีรายได้เพิ่ม 240,000 บาท/ปี  ซึ่งเกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น  6,000 บาท/ไร่  เก็บเกี่ยวข้าวได้เร็วกว่าปกติประมาณ 1 สัปดาห์
               4. เครื่องล้างผักผลไม้อัลตราโซนิกส์ (วว.)  เป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สามารถนำไปประกอบอาชีพได้  ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  เพิ่มประสิทธิภาพการชำระล้างสารเคมีตกค้างและจุลินทรีย์ในผักผลไม้ได้สูงถึง 78 %  ลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 85 % เมื่อเทียบกับการล้างแบบเดิม  สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผักผลไม้ส่งออก
               5.  โครงการส่งเสริมศักยภาพและการใช้ไอทีสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (สวทช.) เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ e-Marketing ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท 1-3 ดาว จำนวน 500 ราย  ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สามารถรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคได้ เป็นเครื่องมือขยายโอกาสทางธุรกิจ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว  โดยในปีแรก  จะจัดหาบริษัทซอฟต์แวร์เพื่อจัดทำเว็บไซต์สำเร็จรูปให้กับผู้ประกอบการ  สร้างเป็นโครงการต้นแบบ  ที่จะนำไปขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป  เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์
               6.  เทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรม (สซ.)  เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีสุญญากาศเพื่ออุตสาหกรรม  เพิ่มขีดความสามารถรองรับอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสุญญากาศ  เช่น บริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์   บริษัทผลิตผงแม่เหล็ก  บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ  50 %  ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศระดับสูงและเทคนิคการตรวจซ่อมให้ กับกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศ สามารถให้บริการออกแบบผลิตชิ้นส่วนสุญญากาศที่มีราคาถูก
               7.  โครงการผลิตช่างตรวจสอบเครื่องจักรกลซีเอ็นซีเบื้องต้น (มว.)  เนื่องจากมีสถานประกอบการที่ใช้เครื่องจักรกลซีเอ็นซีจำนวนมาก แต่ยังขาดช่างผู้ชำนาญงานในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรดังกล่าว  โครงการนี้เป็นการเพิ่มจำนวนช่างผู้ชำนาญในการตรวจสอบเครื่องจักรกลซีเอ็นซี ให้ได้มาตรฐานสากล โดยสอนให้กับช่างในสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักรกลซีเอ็นซีใน พื้นที่สมุทรปราการ  ชลบุรี  เชียงใหม่  สร้างงานให้กับช่างเทคนิค  บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลซีเอ็นซีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
               8. C-AOSS แนวป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ป่าชายเลนจากไม้ประกอบพลาสติก (นว.)  เป็นการสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ป่าชายเลนจากไม้ประกอบพลาสติกที่ ออกแบบด้านวิศวกรรม เพื่อลดแรงปะทะของคลื่นทะเลในลักษณะของรูปแคปซูลที่ถอดประกอบได้  เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ โดยออกแบบแผ่นยางให้มีลักษณะคล้ายปะการัง  เพื่อดักตะกอนทรายและดินไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล  เป็นการเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำ  สามารถสร้างแนวป้องกัน C-AOSS จำนวน 50 ต้น พร้อมปะการังเทียมในพื้นที่ป่าชายเลน อบต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับแนวป้องกันแนวใหม่ที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน และสร้างอาชีพให้ชาวประมงได้
               9.  โครงการบูรณาการข้อมูลดาวเทียม และ GIS สู่ยุทธศาสตร์จังหวัด (สทอภ.)  เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศไปใช้เป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่นอย่าง ยั่งยืน  โดยสร้างความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปใช้เป็นฐาน ในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  สนับสนุนแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงเฉพาะเรื่อง  เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามยุทธศาสตร์จังหวัด  และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา  ตรวจสอบ  ติดตามสภาพปัจจุบันของชุมชน  มีข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านการท่องเที่ยว โบราณสถาน  ศิลปวัฒนธรรม  เชิงนิเวศ  การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เช่น สุโขทัย  อุดรธานี  นครราชสีมา  สุพรรณบุรี  กาญจนบุรี  นครนายก เป็นต้น
               10.  โครงการเครือข่ายปฏิบัติการน้ำชุมชน (สสนก.)  เป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำชุมชน  เป็นการนำตัวอย่างภูมิปัญญาและความเปลี่ยนแปลงในการจัดการของแต่ละชุมชนมา แลกเปลี่ยนประสบการณ์  เกิดเครือข่ายทำงานเป็นทีม  ดำเนินการในพื้นที่ป่าต้นน้ำ  จ.เชียงใหม่  ตาก และ พื้นที่น้ำแล้ง จ.บุรีรัมย์  นครราชสีมา ที่เป็นชุมชนกว่า 1,000 ครัวเรือน  นำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้  เพิ่มรายได้ลดรายจ่ายชุมชน  ขยายเครือข่ายเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และสร้างเป็นชุมชนแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป  ภายใต้โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
               11.  โครงการโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทย์นำร่อง (สวทน.)  เป็นโครงการบ่มเพาะนักเรียน ที่มีความสามารถพิเศษด้านการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีระดับ ปวช.  มีวิทยาลัยการอาชีพพานทอง จ.ชลบุรี  ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นสถานศึกษานำร่องแห่งแรก  จัดการเรียนการสอนแบบ Project-based ในสาขาอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์  นักเรียนกลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต  เพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ
               12.  การผลิตสื่อทางดาราศาสตร์ (สดร.)  ผลิตสื่อช่วยสอนและเผยแพร่ความรู้ทางดาราศาสตร์  มีการออกแบบที่หลากหลาย เช่น เครื่องวัดมุมดาว  แผนที่ดาว  นาฬิกาแดด  กล้องดูดาวอย่างง่าย  โมเดลดาราศาสตร์  โปสเตอร์ดาราศาสตร์  สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน  โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นครู  นักเรียน  ประชาชนที่สนใจ  ผู้ประกอบการทั่วประเทศ  เป็นการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ผลิตสื่ออย่างมีประสิทธิภาพ  พัฒนาสู่เชิงพาณิชย์  และสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
               13.  โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรุ้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (ปส.)  เป็นการสนับสนุนการนำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้อย่างสันติ  สร้างเครือข่ายเผ้าระวังภัยจากนิวเคลียร์ และรังสี  เน้นให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน  เยาวชน  ครู  นักเรียน  ผู้นำชุมชน  ส่งผลให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างปลอดภัยกับนิวเคลียร์และรังสี
               14.  นิทรรศการวิทยาศาสตร์สัญจรสู่ภูมิภาค (อพวช.)  เป็นโครงการนิทรรศการสัญจรสู่ภูมิภาคสร้างโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่างสนุกสนาน  สารระความรู้คู่ความบันเทิง  เป็นการนำกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์สู่ท้องถิ่นห่างไกลทั่วทุกภูมิภาค  ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบัน การศึกษากับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้และรักการเรียนด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่ง ขึ้น  โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียน  นักศึกษา  ครูอาจารย์ และกลุ่มครอบครัว
               นอกจากผลงานทั้ง 14 โครงการดังกล่าวข้างต้น  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีผลงานวิจัยและพัฒนาอีกมากมายที่นำสู่ประชาชน  ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการร่วม Call Center 1313  หรือที่เว็บไซต์กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ www.most.go.th

 

 

 

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป