สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี สัมมนาวิชาการเนื่องในวันมาตรวิทยาโลก และครบรอบวันสถาปนา 11 ปี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ “การสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ด้วยมาตรวิทยาได้อย่างไร” โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ณ ห้องคอนแวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552
พล.อ.ต.ดร. เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันมาตรวิทยาโลก (วันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปี) ร่วมกับวันสถาปนาสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี โดยจัดการสัมมนาทางวิชาการขึ้น ในหัวข้อเรื่อง “การสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ด้วยมาตรวิทยาได้อย่างไร” กิจกรรมในวันนี้จะมีการบรรยายในภาคเช้า ในภาคบ่ายจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านมาตรวิทยา โดยฝ่ายต่าง ๆ ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม รัฐวิสาหกิจ ห้องปฏิบัติการสอบเทียบทั้งรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ ประมาณ 350 คน
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่พวกเราจะได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นในวันนี้ ซึ่งจะมีความหมายต่อประเทศอย่างมาก ไม่ว่าจะขายสินค้าที่ไหน จะขายในประเทศหรือต่างประเทศ ย่อมจะต้องตระหนักถึงมาตรฐานของสินค้า ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือมากตาม การกีดกันทางการค้าทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องภาษี แต่เป็นเรื่องกีดกันทางคุณภาพ มาตรฐาน ฉะนั้นมาตรวิทยาจึงเป็นความรู้ หรือวิธีการที่จะนำพาประเทศไทยพ้นวิกฤติได้ อยากให้พวกเราร่วมคิดร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นซึ่งขยายไปทั่วโลก
มาตรวิทยาเป็นวิชาการที่เกี่ยวกับการวัด การวิเคราะห์ การทดสอบ ที่ถูกต้องแม่นยำ ตามข้อกำหนดของสากล แม้กระทั่งเรื่องเวลา ซึ่งทางมาตรวิทยาเป็นศูนย์กลางของการเทียบเวลาก่อนที่จะประกาศว่า 8 นาฬิกา จริง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราไม่ค่อนตระหนักและพูดถึง อยากให้พวกเราเป็นตัวกลางถ่ายทอดให้คนทั่วไปว่า มาตรวิทยาเป็นกลไกสำคัญต่อชีวิตต่อกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ ถ้าเราสามารถยกมาตรฐานเทียบกับต่างประเทศได้เราก็จะแข่งขันกับเขาได้ ถ้าเราทำได้ดีกว่าเราก็จะได้เปรียบในการส่งออกสินค้า