(2 มิถุนายน 2552) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. จัดพิธีส่งมอบตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์ ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายเร่งด่วนในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำผลงานของกระทรวงฯ ประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างงาน และสร้างรายได้แก่ประชาชน โดยให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป มีความรู้ความสามารถในการใช้วิทยาศาสตร์ควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น
นาย ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการระดับสูงในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิ สารสนเทศ ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบโปรแกรมดิจิทัลไทยแลนด์ จำนวน 5,000 ชุด ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้านภูมิสารสนเทศศาสตร์ และร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทั้งสองกระทรวง จะก้าวเข้าสู่ความร่วมมือกันอีกระดับหนึ่ง ในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้ก้าวหน้า และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแบบบูรณาการให้ ยั่งยืนต่อไป โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา ระดับปริญญาตรี เพื่อเป็นบัณฑิตนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติต่อไป
รศ. ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กล่าวว่า สทอภ. ได้ร่วมกับสมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดทำตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์ ระดับปริญญาตรี เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนแก่นิสิต นักศึกษา ซึ่งขณะนี้ มีการเรียนการสอนในสาขาเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศศาสตร์เกือบทุกสถาบัน ดังนั้น การจัดทำตำราเล่มนี้ นอกจากเป็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงไว้ เพื่อต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปในอนาคตด้วย
ตำรา เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์ ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วย หลักการและพื้นฐานของภูมิสารสนเทศ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเสนอกรณีตัวอย่างที่ได้จากประสบการณ์จริงของนักวิชาการที่มีความเชี่ยว ชาญในการประยุกต์ใช้หลากหลายสาขา ทั้งด้านการเกษตร ป่าไม้ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ธรณีวิทยา แหล่งน้ำ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ความมั่นคง และการทำแผนที่ โดยมีแผนที่และสถิติที่เกี่ยวข้องแสดงไว้ในหนังสือดังกล่าวด้วย
การ จัดทำตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์ ระดับปริญญาตรี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านภูมิสารสนเทศของประเทศ นับเป็นนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของ ประเทศไทย (ธีออส) และข้อมูลภูมิสารสนเทศให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตชนบท อันจะเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนการสอนแบบไร้พรมแดนต่ออาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป