กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน 3 หน่วยงาน ร่วมลงนามความร่วมมือพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิตปิโตรเลียม

3 หน่วยงาน ร่วมลงนามความร่วมมือพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิตปิโตรเลียม

พิมพ์ PDF

     นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ระหว่างนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) นางญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการร่วมกัน และมุ่งหวังพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของไทยในอนาคต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 เวลา 09.00 น. ณ Synergy Hall, ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคาร C ชั้น 6

 


      ขอบเขตในการร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย
  1. การร่วมมือเชิงลึกเพื่อพัฒนาศักยภาพหรือดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ อันก่อให้เกิดประโยชน์
  2. ส่งเสริมความสำคัญแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งจัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมนวัตกรรมด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
  3. พัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรของทั้ง 3 ฝ่าย ในการพัฒนาโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน เพื่อการวิจัยและการพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
  4. การขยายผล เพื่อยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมไทย
     นายวรวัจน์  เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวว่า เครือข่ายความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับภารกิจที่กระทรวงวิทยาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนและผลักดันงานวิจัยและพัฒนาของประเทศให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 1 ของ GDP และนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสากรรมไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

 


     ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขานุการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมห่งชาติ(สวทน.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้รับมอบหมายจาก นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ดำเนินการผลักดันเรื่องการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคต โดยเริ่มต้นตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาเอก และเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Talent Mobility) เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ และขับคลื่อนการวิจัยและพัฒนาตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ 
     ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาด้านความมั่นคง ด้านพลังงานเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ต้องมีการนำเข้าพลังงานกว่า 50% ของพลังงานที่ใช้ โดยการแก้ปัญหาด้านพลังงานต้องนำเข้าเทคโนโลยีจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากขีดความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิตเทคโนโลยีพลังงานของภาครัฐและเอกชนไทยยังไม่สูงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเชื่อมโยงโจทย์วิจัย ปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้านพลังงาน อันจะส่งผลให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศมีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีโลกได้

 


     จากการผลักดันในเชิงนโยบายและแผนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย โดย สวทน.  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)นั้น จะมีบทบาทสำคัญในส่วนของภาคการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนำความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งด้าน บุคลากร ความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ และเครื่องมือต่างๆผ่านการทำงานร่วมกันของศูนย์ทั้ง 5 ศูนย์ โดยในสวทช. ได้แก่
     - ศูนย์เทคโยโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับวัสดุต่างๆ
     - ศูนย์เทคโยโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
     - ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านเทคโนโลยีชีวภาพ
     - ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ที่มุ่งพัฒนางานด้านนาโนเทคโนโลยี
    - ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือนักวิจัยและบริษัทต่างๆในการนำผลงานการ ค้นพบและเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการทำงานของเครือข่าย ของ สวทช. เพื่อให้องค์กรภาคการผลิตและชุมชนได้ใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
      นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สผ. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานเกือบทุกรูปแบบ นำเข้าน้ำมันประมาณ 85% นำเข้าก๊าซธรรมชาติประมาณ 20% จึงเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ภารกิจของบริษัท ปตท.สผ.ที่สำคัญก็คือ การเร่งรัดในการพัฒนาศักยภาพปิโตรเลียมในประเทศให้สามารถนำใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในการดำเนินงานนี้ จะต้องมีการนำเทคโนโลยีและการวิจัยมาใช้ประโยชน์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ เทคโนโลยียังมีบทบาทในการที่จะช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมถึงสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
     นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบต่างๆร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาความสามารถของบุคลากรทั้ง 3 ฝ่าย และสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสหกรรมที่ต้องอาศัยความรู้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้นและค่าใช้จ่ายลดลง และเพิ่มอัตราการประสบความสำเร็จในการจัดหาและสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ที่ท้าทาย นอกจากนี้ ปัจจุบันการใช้ปิโตรเลียมยิ่งเพิ่มขึ้นความเจิญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งนับวันจะหายากขึ้น จึงจำเป็นต้องนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน

 


      ในโอกาสนี้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วท. หวังว่าการทำงานร่วมกัน 3 ฝ่ายในครั้งนี้ จะเป็นทั้งต้นแบบการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมนวัตกรรมของภาคเอกชน และเป็นต้นแบบการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสามารถนำไปขยายผลต่อได้ในอนาคต

 

เขียนข่าวโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ถ่ายภาพโดย :นายพิริยะ เผ่าพงษา

เผยแพร่โดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป