![]() |
![]() |
วันนี้ ( 5 เมายน 2556) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง” โดยมีการนำโมเดลหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูงมาแสดง ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูงนี้ เป็นหนึ่งในโครงการบูรณาการภายใต้แผนงานกระทรวงฯ เพื่อพัฒนาเครือข่าย โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสใกล้สำเร็จให้สามารถออกสู่ตลาดเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยใช้งบประมาณทั้งโครงการจำนวน 2,000 ล้านบาท ในเวลา 5 ปี ซึ่งประเทศไทยต้องใช้จุดแข็งประกาศความเป็นผู้นำเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและเข้าไปช่วยสนับสนุนการสร้างศักยภาพในการผลิตเอง และทำให้เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ นำรายได้เข้าประเทศ
![]() |
![]() |
![]() |
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานที่ได้รับความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ซึ่งจะมีบทบาทในการบูรณาการงานวิจัยตั้งแต่ระดับการพัฒนานวัตกรรม จนถึงระดับอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้จัดวางโครงสร้างพื้นฐานกลางที่มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการรับรองคุณภาพและศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เปิดรับและพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยประเภทการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน รวมทั้งจัดทำแผนกลยุทธ์หุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูง เพื่อเชื่อมโยงกับแผนและกิจกรรมหุ่นยนต์ด้านอื่น ๆ รวมถึงแผนเครื่องมือแพทย์ โดยในเฟสนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า แผนงานในการดำเนินโครงการว่า ส่วนแรก TCELS จะเปิดศูนย์บูรณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง ส่วนที่สอง จะเป็นการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เป็นต้นแบบ ส่วนที่สาม คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการให้ความรู้ และจะทำการคัดเลือกต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่น หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ และหุ่นยนต์ผ่าตัด โดยร่วมทุนกับบริษัททั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์ของภูมิภาค รวมถึงประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น อันจะนำไปสู่การสร้างแบรนด์หุ่นยนต์การแพทย์ของไทยในเวทีระดับโลกได้
![]() |
![]() |
ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า หุ่นยนต์ทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ในภาพรวมนั้นจะต้องผ่านมาตรฐานและเงื่อนไขที่รับรองความปลอดภัยในการใช้กับร่างกายมนุษย์ ขณะเดียวกันต้องมองถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกด้วย ปัจจุบันจะพบได้ว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้บริการเทคโนโลยีทางด้านนี้สูง จึงต้องมีการผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกอบรมและใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อยกระดับเส้นทางวิชาชีพของนักวิชาการหุ่นยนต์ ตลอดจนพัฒนาการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องต่อไปซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี
เขียนข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ถ่ายภาพและวีดีโอโดย : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ และ นายรัฐพล หงสไกร