กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน การประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ. ประจำปี 2552 “ธีออส ดาวเทียมไทย พร้อมใจให้บริการ”

การประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ. ประจำปี 2552 “ธีออส ดาวเทียมไทย พร้อมใจให้บริการ”

พิมพ์ PDF

ดร. คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานเปิดการประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ. ประจำปี 2552 “ธีออส ดาวเทียมไทย พร้อมใจให้บริการ” เพื่อให้ข้อมูลการให้บริการดาวเทียมธีออส  ผลิตภัณฑ์ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมธีออส  โดยมี รศ.ดร.สมเจตน์  ทิณพงษ์  ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การประชุมฯ ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม บี โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ

 

 

             

 

 

             ดร. คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  กล่าวว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีดาวเทียมเป็นของตนเอง  เราสามารถที่จะให้ดาวเทียมถ่ายภาพมาทำแผนที่ที่มีข้อมูลภาพ ทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ  โดยดาวเทียมธีออส สามารถถ่ายภาพวัตถุประมาณขนาด 2x2 เมตรได้  ทำให้สามารถเห็นข้อมูลของบ้าน วัด และสถานที่อื่น ๆ อีกทั้งสามารถใส่ข้อมูลลงในแผนที่ได้  ทำให้หน่วยราชการสามารถใช้แผนที่ในการบริหารงานได้  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแนวคิดว่าทำอย่างไรจะสามารถทราบความเป็นอยู่ของประชาชน  เบื้องต้นคิดว่าจะใช้แผนที่ดาวเทียมร่วมกับคอมพิวเตอร์  โดยส่งคนที่สามารถสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ได้ลงไปสำรวจแล้วส่งข้อมูลผ่าน คอมพิวเตอร์  เมื่อทราบความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของประชาชนแล้ว จะทำให้สามารถวางแผนพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนได้
               ด้าน รศ.ดร.สมเจตน์  ทิณพงษ์  ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. กล่าวว่า  การนำข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมมาการประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศด้านความ มั่นคง  สิ่งแวดล้อม  ตลอดจนการพัฒนาอาชีพของประชาชนเป็นประโยชน์แท้จริงของดาวเทียม  ซึ่งขณะนี้มีประเทศต่าง ๆ สนใจที่จะนำภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออสไปใช้ประโยชน์และติดต่อมาแล้ว 10 ประเทศ
               สทอ ภ. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ได้จัดการประชุมผู้ใช้ข้อมูล สทอภ. (GISTDA User Day) เป็นประจำทุกปี โดยแต่ละปีกำหนดหัวข้อเรื่องการประชุมแตกต่างกันออกไป สำหรับในปี 2552  กำหนดหัวข้อเรื่อง “ธีออส ดาวเทียมไทย พร้อมใจให้บริการ”  เนื่องจากธีออส (THEOS) ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย ซึ่งได้ส่งขึ้นสู่วงโคจรเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 สามารถบันทึกภาพได้ทั่วโลก  จึงทำให้ไทยมีศักยภาพในการให้บริการข้อมูลดาวเทียมแก่ผู้ใช้ทั้งในและต่าง ประเทศ  ขณะนี้ ดาวเทียมธีออส ได้ผ่านการทดสอบต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากลอย่างสมบูรณ์แล้ว  สทอภ. พร้อมจะให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมธีออสแก่ผู้ใช้ในประเทศ 
               การ ประชุมฯ ครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์การใช้บริการข้อมูลดาวเทียมธีออส  ผลิตภัณฑ์ และการประยุกต์ข้อมูลดาวเทียมธีออสในหลายสาขา รวมถึงสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างผู้ใช้กับ สทอภ. ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมอัน จะเป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจและความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 คน จากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา  สาระของการประชุมประกอบด้วย  ความพร้อมของการให้บริการ  โดยมีการตรวจสอบระบบต่าง ๆ รวมถึงการซักซ้อมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ  ตลอดจนมีการจำลองเหตุการณ์ของการสั่งภาพตามความเร่งด่วนที่ระดับต่าง ๆ กัน  เพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายมีความพร้อมให้บริการอย่างแท้จริง  นอกจากนี้  ยังมีการบรรยายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และคุณภาพข้อมูล  เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลมั่นใจว่าภาพจากดาวเทียมธีออสมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล  สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบริการ  ซึ่งเป็นขั้นตอนการให้บริการข้อมูลจากดาวเทียมธีออส ได้แก่ การเลือกภาพจากดาวเทียมบริเวณที่ต้องการ  การสั่งภาพซึ่งมีทั้งภาพจากคลังข้อมูลดาวเทียม และสั่งดาวเทียมธีออสถ่ายภาพบริเวณและช่วงเวลาที่ต้องการ  รวมถึงจากห้วงอวกาศสู่โต๊ะปฏิบัติการ  เป็นการนำภาพจากดาวเทียมธีออสไปใช้งานโดยใช้ซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์  นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำการเน้นความคมชัดของภาพ  และการประยุกต์ใช้ในหลายสาขา  ภายในงาน สทอภ. ได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับภาพจากดาวเทียมธีออส บริเวณต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ  การประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมธีออสในด้านต่าง ๆ แผนที่ภาพจากดาวเทียมธีออสบริเวณกรุงเทพมหานคร ตลอดจนจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงอื่น ๆ ที่ สทอภ.ให้บริการ  นอกจากนี้ สทอภ. ได้แจกตัวอย่างภาพจากดาวเทียมธีออส คู่มือผู้ใช้ข้อมูล แผนที่ภาพจากดาวเทียมธีออสกรุงเทพมหานคร  ตลอดจนโบรชัวร์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลมีความเข้าใจในโครงสร้างของข้อมูลและเล็งเห็นประโยชน์  ตลอดจนคุณภาพที่ดีของข้อมูลจากดาวเทียมธีออสอีกด้วย

 

 

 

 


 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป