(21 กุมภาพันธ์ 2556 : ลานพาร์คพารากอน) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโครงการ “Smart Thailand via ITS Empowering by MOST กระทรวงวิทย์ฯ บูรณาการระบบจราจรอัจฉริยะ เอื้อความสุขคนไทย...ก้าวไกลไปอาเซียน” ปูทางแก้ไขปัญหาจราจรที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก และได้รับพิสูจน์จากนานาประเทศว่าสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้ในระดับประสิทธิภาพสูง ซึ่งระบบจราจรขนส่งอัจฉริยะ Intelligent Transport Systems หรือ ITS เป็นระบบที่ผสมผสานเทคโนโลยีหลายด้าน ทั้งอิเล็กทรอนิกส์สื่อสารโทรคมนาคม และนวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยให้การจัดการจาจรมีประสิทธิภาพ ผ่านการประสานข้อมูลระหว่างกันของหน่วยงานตรวจวัด และทำนายระดับความหนาแน่นการจราจร ซึ่งจะทำให้การสัญจรคล่องตัว สามารถการติดขัดของจราจร ทั้งยังช่วยควบคุมเรื่องวินัยจราจรที่เป็นปัญหาสำคัญของไทยในปัจจุบัน
|
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาแล้วจะใช้เทคโนโลยีไอทีมาควบคุมระบบจราจร ส่วนประเทศไทยเองเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคน ทำให้ปัญหาจราจรในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นเกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ นอกเหนือจากปัญหาพลังงาน น้ำมันแล้ว ทรัพยากรอื่นๆ ของชาติยังหมดลงกับการเสียเปล่าในการขนส่งและการจราจร นอกเหนือไปจากปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นอีกปัญหาที่สำคัญ มลพิษทั้งในอากาศ น้ำ เสียงรบกวน และมลพิษอื่นๆ ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการดำรงชีวิต การแก้ไขปัญหาจราจรเป็นสิ่งที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพยายามหาวิธีขจัดปัญหาหรือทุเลาปัญหานี้
![]() |
ที่ผ่านมาเรายังขาดการบูรณาการร่วมกันในหลายๆ เรื่อง อย่างเรื่อง ITS ระบบนี้สามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการขนส่งได้ เช่น การจราจรติดขัด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และลดอุบัติเหตุ เป็นต้น แต่ ITS ต้องใช้ความรู้ในหลากหลายสาขาและต้องการการบูรณาการร่วมกันของหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ITS Thailand กองบังคับการตำรวจจราจร กระทรวงคมนาคม และกระทรวงไอซีที มาร่วมมือกัน จริงๆ แล้วเรามีทุกอย่างครบ ต่างหน่วยงานต่างมีระบบจราจรอัจฉริยะเป็นของตัวเอง เช่น กทม.มีระบบไฟจราจรอัจฉริยะ มีกล้องซีซีทีวี ตำรวจมีระบบตรวจจับผู้ที่ทำผิดกฏจราจร มีกล้องควบคุมจราจร หลายแบบหลายชนิด เช่น กล้องตรวจจับผู้ที่ทำผิดกฏจราจรในพื้นที่ต่างๆ โดยกล้องดังกล่าวจะส่งข้อมูลไปยังสำนักงานขนส่ง เพื่อแจ้งให้ทราบว่า รถทะเบียนอะไรทำผิดแบบไหน เจ้าของรถจะต้องได้รับโทษโดยไม่ทำให้การจราจรติดขัด หรือ วท.มีการสร้างแอฟพลิเคชั่นขึ้นมาหลายแบบที่เชื่อมโยงกับการขนส่ง โรงพยาบาล หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ แอพลิเคชั่นเหล่านี้ปัจจุบันสามารถใช้ได้แล้วจริงๆ เช่น นั่งรถแท็กซี่ แล้วคนขับขับเร็วเกินที่กำหนดไว้ตามพื้นที่ต่างๆ สามารถแจ้งตำรวจจราจรพื้นที่ใกล้เคียงผ่านแอพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือได้ แต่ทุกอย่างยังอยู่เป็นหย่อมๆ ไม่เอามารวมกันเพื่อใช้ร่วมกันให้เป็นระบบ
![]() |
สิ่งที่เรากำลังจะดำเนินการ โดยผมให้ทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปเร่งเขียนแผน เพื่อที่จะนำเอาเครื่องมือทุกอย่างที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอยู่มาบูรณาการร่วมกัน แล้วแปรข้อมูลทั้งหมดออกมา สำหรับการวางแผนการจราจรที่เป็นภาพรวม ไม่ใช่แก้เป็นหย่อมๆ และตอนนี้ได้คุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ว่ามีใครทำระบบอะไรเอาไว้บ้าง ต้องเอามาบูรณาการทั้งหมด ทำให้เป็นศูนย์รวมอยู่ที่เดียวกัน เมื่อนั้นทุกคนจะมีความสุขกับการเดินทางมากขึ้น ผมมั่นใจว่าทำได้แน่นอน นายวรวัจน์ฯ กล่าว
การพัฒนาเทคโนโลยี นับเป็นความก้าวหน้าของมนุษย์ในการนำเอาความรู้ในหลายๆ ด้าน มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทาง ก็เป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งของการใช้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะศาสตร์ด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มาใช้ เพื่อช่วยให้ประชาชนและสังคม สามารถเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ หรือ ITS - Intelligent Transport Systems เป็นระบบที่หลอมรวมเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ และ โทรคมนาคม มาผสมผสานให้เกิดการประยุกต์ใช้งาน เช่น เทคโนโลยีประมวลผลภาพ (Image Processing) เทคโนโลยีการระบุตัวตนด้วยความถี่คลื่นวิทยุ(RFID) เทคโนโลยี การสื่อสารไร้สาย(Wireless Communication) เทคโนโลยีรู้จำเสียง (Voice Recognition) เทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Computer Network) เทคโนโลยีคลังข้อมูล (Data Mining) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Data Warehouse) เทคโนโลยีตรวจจับหรือรับรู้(Sensor) เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง การควบคุม การติดตาม รวมไปถึงความปลอดภัยในการเดินทาง ด้วยเทคโนโลยีอันชาญฉลาดเหล่านี้ จะสามารถบริหารจัดการการจราจรให้เป็นระบบ และตอบสนองต่อความจำเป็นของการขนส่งและเดินทางในประเทศได้ในระดับหนึ่ง เช่น ช่วยลดอุบัติเหตุ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และปัญหาสิ่งแวดล้อม
ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม
โปรแกรมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ : 02-564-6891
โทรสาร : 02-564-6769
Website : http://its.nectec.or.th
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ภาพข่าว : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ และนายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 0 2333 3732
Tags ระบบจราจรอัจฉริยะ