กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ก.วิทย์ ร่วมภาครัฐ-เอกชน จัดประชุมคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์พร้อมชมผลงานข้าวโพด พริก มะเขือเทศ และแตง

ก.วิทย์ ร่วมภาครัฐ-เอกชน จัดประชุมคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์พร้อมชมผลงานข้าวโพด พริก มะเขือเทศ และแตง

พิมพ์ PDF

    

      วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2556) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงานการประชุมคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชและเมล็ดพันธุ์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดอาชีพและรายได้ต่อไป พร้อมรับฟังการบรรยายและวิสัยทัศน์องค์กรภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ของเอเชีย และร่วมผลักดันการจัดทำ “ยุทธศาสตร์นำพืชผักไทยสู่ตลาดอาเซียนและระดับนานาชาติ” และชมผลงานและนิทรรศการข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง ข้าวโพดหวานสีแดง พริกอัคนีพิโรธ มะเขือเทศพันธุ์ต้านทานโรคหลายโรค แตงกวาสายพันธุ์กระเทย ฯลฯ ทั้งนี้งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธุ์ 2556

     วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งที่เรามาพูดคุยเรื่อง ยุทธศาสตร์ของประเทศ อีก 2 ปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยเราจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ความหมายคือ เราต้องตกลงกันในกลุ่มอาเซียน จับมือกัน อะไรที่เป็นจุดแข็งของประเทศนั้นก็ให้เป็นผู้นำ ส่วนอะไรที่เป็นจุดอ่อนก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อที่จะสร้างศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่ม EU อเมริกา จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เราจะไม่ได้ดูเฉพาะประเทศไทย เพราะสิ่งที่เรากำลังมองคือ ในกลุ่มอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศนี้ เราจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องอะไร โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านดิน ฟ้า อากาศ มีสภาพภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เวลาเรามองผลผลิตของต่างประเทศ เราจะเห็นเลยว่าจริงๆ แล้ว เรามีพืช ผัก ผลไม้ที่เหนือกว่ามาก เพียงแต่ว่าระบบบริหารจัดการที่ยังไม่เป็นระบบ

     วันนี้สิ่งหนึ่งที่เราต้องพูดในคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นหัวใจหลัก เมล็ดพันธุ์นี้ไม่ได้หมายถึงว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด ยกตัวอย่างเรื่องข้าวว่าเหตุใดพื้นที่นี้จึงปลูกข้าวหอมมะลิได้ นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งช่วงแสง ความชื้น สภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เอื้อในบริเวณนั้นทำให้เพาะปลูกได้ดี อีกเรื่องคือใบยาสูบ ทำไมจึงปลูกได้เฉพาะใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เหนือเส้นละติจูดที่ 18 ในช่วงเดือนที่แสงมากและยาวนานสามารถปลูกพันธุ์ใบแคบได้ พอช่วงแสงน้อยราวๆ เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมก็ปลูกพันธุ์ใบกว้างได้ ถ้าปลูกผิดพื้นที่ปากใบมันจะปิดคุณภาพใช้ไม่ได้ ที่ยกตัวอย่างทั้ง 2 เรื่องนี้ก็เพราะคำว่า “เมล็ดพันธุ์” ไม่ว่าจะปลูกในพื้นที่ใดก็ตาม ในวันนี้สิ่งที่เราดำเนินการอยู่ในขั้นเมล็ดพันธุ์จะต้องได้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย ต่อให้ต่างประเทศนำไปปลูกก็ไม่ได้คุณภาพดีเท่าเรา
 


      นอกจากเราจะมองเรื่องเมล็ดพันธุ์แล้ว ในขณะเดียวกันเราจะมองยาวไปถึงการวางกลไกในการผลิตพืชต่างๆ อย่างเช่น พริก เป็นพันธุ์หนึ่งที่ทั้งไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ปลูกในฤดูกาลที่แตกต่างกัน หากไทยปลูก ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามจะขาด แต่หากไทยขาด อินโดนีเซียและเวียดนามจะมี แต่อย่างไรก็ตามด้วยพริกเป็นตระกูลที่ไปปลูกทางอินโดนีเซียไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากความชื้นสูง โรคเยอะ คุณภาพไม่ดี พวกพริก มะเขือเทศ ใบยาสูบ เป็นพืชตระกูลเดียวกัน ฉะนั้นเราต้องมองว่าจังหวัดไหนบ้างจะปลูกพริกพันธุ์อะไร ช่วงไหนเพื่อไม่ให้เกิดพริกล้นตลาด และในจังหวะที่อินโดนีเซียขาดเป็นไปได้ไหมที่จะวางยุทธศาสตร์ปลูกพืชส่งออก สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ ยุทธศาสตร์ที้ราจะมองต่อหลังจากที่รู้ว่าเราจะผลิตเมล็ดพันธุ์อะไร เช่นเดียวกันในการผลิต ทำอย่างไรจึงจะลดการใช้สารเคมี เราจะใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ใช้จุลินทรีย์ หรือแม้แต่ใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น คลื่นแสง คลื่นไฟฟ้า หรือที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประกาศว่า อีก 2 ปี เราจะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ควบคุมแมลงวันทองที่เป็นปัญหาใหญ่ทำลายผลผลิต โดยปล่อยแมลงวันทองที่ฉายรังสีไปผสมพันธุ์กันไข่ออกมาก็ฟ่อ ทำให้ลดปริมาณและควบคุมได้ในที่สุด และนี้ถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่เรานำมาใช้ในการพัฒนาการเกษตรของประเทศ

      นอกจากเรื่องเมล็ดพันธุ์แล้ว ค่า ph ของดินก็เป็นเรื่องสำคัญ ปุ๋ยที่ใส่แล้วจะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ถูกเวลาจะหรือที่เรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน รวมถึงการควบคุมโรคและแมลง ขณะนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่โดยการร่วมมือกันของหลายฝ่ายคือ นวัตกรรมสองสัปดาห์ ที่จะดูเรื่องเทคนิคการเพาะปลูกพืช ที่จริงทั้งพืช ผัก และผลไม้นั้นมีจังหวะที่ชัดเจน เช่น สัปดาห์นี้ เดือนนี้ จะใส่ปุ๋ยตัวไหน เพลี้ยมาจะใช้ยาตัวไหน ช่วงนี้ความชื้นสูงเชื้อราขึ้นจะควบคุมยังไง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของวิชาการที่กำหนดรู้ล่วงหน้าได้ ที่สำคัญคือ ดินฟ้าอากาศ ซึ่งต่อไปเราจะพยากรณ์ได้ในแต่ละช่วงฤดูกาลแล้วส่งข้อมูลนี้ไป ต่อไปกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมีช่องทีวีที่เรียกว่า MOST Channel ที่เราจะใช้ถ่ายทอดเพื่อควบคุมการเพาะปลูกไปยังเกษตรกร ต่อไปนี้การผลิตเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก หรือการติดต่อสื่อสารกับเกษตรกร และส่งข้อมูลต่างๆ ทั้งจากเกษตรกร ผู้ซื้อ ผู้จำหน่าย ผ่านช่องทีวีพเอใช้เป็นสื่อกลางในการดำเนินการ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ

    ขณะนี้ท่านนายกรัฐมนตรีพยายามทำแผนที่เรียกว่า Country Strategy คือแผนในการพัฒนาประเทศและการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เราก็รับมาในการที่จะบูรณาการงานทุกส่วนเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายว่าจะดำเนินการประมาณ 1% ของ GDP ไม่ได้หมายความว่างบใหม่แต่เป็นการรวมงบที่กระจัดกระจายอยู่มาผูกเพื่อทำงาน ร่วมกันไม่ใช้ต่างคนต่างจัดต่างคนต่างทำ ขณะนี้เราได้แผนงานที่มีประสิทธิภาพมา 46 แผนงาน ทั้งพืชผัก ผลไม้ ข้าว มัน ยา อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ เครื่องมือทางการแพทย์ และในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 2% ของ GDP การบูรณาการงานต่างๆ เช่นนี้ จะทำให้เรามีขีดความสารมารถเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และก้าวสู่การเป็นผู้นำของประชาคมอาเซียนต่อไป

      ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. โดยโปรแกรมเมล็ดพันธุ์คลัสเตอร์เกษตรและอาหาร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนต่างเล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญและมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรจำนวนมากอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร และความมั่นคงของประเทศ ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เขตร้อนของเอเชีย โดยรัฐต้องให้มีการสนับสนุนด้านการวิจัยและการพัฒนา การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันด้านกฎระเบียบหรือมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยยังคงรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
 


     คลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์  เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในคัลสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ได้ร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทย โดยระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2550 ถึง 2554 และระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2555 – 2559 โดยเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์เมล็ดพันธุ์ คือ “ เพิ่มบทบาทในการพัฒนาพ่อแม่ของไทยเอง พร้อมกับมีเครื่องหมายการค้า (Thailand brand) เพื่อช่วยยกระดับมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ให้เป็นระดับ 3,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2554 และ 5,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2559 และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจากการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีอย่างแพร่หลาย เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ดีใช้ เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่

      แผนยุทธศาสตร์ด้านเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านมาประกอบด้วยแผนงานหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1.การบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรม 2.การปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรค 4.การพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง เช่น เทคโนโลยีโรงเรือนที่เหมาะสมในการผลิตเมล็ดพันธุ์และ 5.การพัฒนาเทคโนโลยีกรรมเคลือบเมล็ด กลุ่มพืชที่มุ่งเน้นในระยะแรกภายใต้ยุทธศาสตร์ คือ กลุ่มข้าวโพด พริก มะเขือเทศ และแตง

     ทั้งนี้จากการดำเนินงานในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้คลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์จะมิได้มีการตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ในการกำหนดโจทย์ปัญหา ทิศทางการวิจัย กำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมหรือของคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ ภาคเอกชนให้ความสนใจในการลงทุนวิจัยและพัฒนาขึ้นมากขึ้น และนอกจากกลุ่มคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์แล้วยังเกิดการเชื่อมโยงไปถึงภาคการผลิตและอุตสาหกรรมแปรรูปทั้งอาหารและยา และเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มเกษตรเพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขยายโอกาสด้านการตลาดและการส่งออกมากขึ้น การประชุมในวันนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การรับฟังความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้สู่ภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกร เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดและใช้ประโยชน์ หารรับฟังมุมมอง ข้อมูลสถานภาพและศักยภาพของไทยในการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนการรับฟังนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์รวมทั้ง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำพืชผักสู่ตลาดอาเซียนและระดับนานาชาติ โดยเน้นการบูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน

เขียนข่าวโดย :  นางสาวศิริลักษณ์  สิกขะบูรณะ
ภาพข่าวโดย  :  นายพิริยะ  เผ่าพงษา และ นายรัฐพล  หงสไกร
เผยแพร่ข่าวโดย :  นางสาวนีรนุช  ตามศักดิ์
 

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
» เปิดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโลกมืด กับ “ค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น” ครั้งที่ 9
» ก.วิทย์ จับมือ ก.คลัง เปิดช่องทางใหม่ให้เอกชนรับรองโครงการวิจัยด้วยตนเอง เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษี 300% ได้สะดวก รวดเร็ว และหนุนการทำวิจัยเพิ่มมากขึ้น
» ก.วิทย์ โดย ซอฟต์แวร์พาร์ค สวทช. จับมือ สสว. จัดเวทีนำเสนอนวัตกรรมและแผนธุรกิจสำหรับหาเงินทุนหรือผู้ร่วมทุน พร้อมสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพไอซีทีไทยในระดับนานาชาติ
» ก.วิทย์ สวทช. ร่วมมือกับเอไอที สนับสนุนบุคลากรวิจัยให้บริการและให้คำปรึกษาทางวิชาการ
» สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สวทช. เผยผลสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารปี 59 ตลาดยังสดใส โต 11.5% ผลพวงจาก 4G และดิจิทัลอีโคโนมี
» กรมการข้าว ร่วมกับ สวทช. เปิดหมู่บ้านส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง
» สวทช. ก.วิทย์ - สสส. และภาคีเครือข่าย หนุนเวที “นวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม” ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยี แก้ปัญหาสังคม
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป