กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สทอภ. เปิดอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ Space Krenovative Park
![]() |
นายนิรุตติ คุณวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิด อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ Space Krenovative Park (SKP) ภายใต้แนวคิด “Inspiring Beyond” โดยมี ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) กล่างรายงานสรุปเกี่ยวกับ SKP และภายในงานได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง GISTDA กับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมการแสดงศักยภาพของ GISTDA ในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ การแสดงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และยานยนต์ภูมิสารสนเทศในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมีผู้ร่วมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากกว่า 300 คน ณ Visionarium สถานีควบคุมดาวเทียมไทยโชต อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
โครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศ (SKP) เป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SME และระดับอุตสาหกรรมอันจะเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของการ พัฒนาธุรกิจบนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศ จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระดับภูมิภาค และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้รองรับการพัฒนาของประเทศที่มุ่งเน้นนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ อันเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศจะมีพื้นที่ให้หน่วยงานภาคเอกชนเข้าทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ พร้อมกับให้บริการอันเป็นการสนับสนุนการวิจัยให้บังเกิดผลเชิงพาณิชย์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศ ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน 7 ส่วนหลัก ดังนี้ 1. Satellite Operations เป็นหน่วยควบคุม และผลิตข้อมูลดาวเทียมไทยโชต และดาวเทียมอื่นๆ ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ สทอภ. ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน 2. Geo-Informatics Solution Delivery & Training Center เป็นศูนย์กลางด้านภูมิสารสนเทศระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อวิจัยพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศ และเผยแพร่ความรู้ โดยมีหลักสูตรฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ
3. Visionarium เป็นสถานที่จัดกิจกรรมและแสดงประวัติความเป็นมาด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิ สารสนเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดจินตนาการสร้างสรรค์แก่ นิสิต นักศึกษา ประชาน รวมทั้งเป็นศูนย์รวมข้อมูลและวิชาการที่เกี่ยวข้อง โดย สทอภ. มีความประสงค์ที่จะให้องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างแก่เยาวชนของชาติ 4. Space Development เพื่อทำการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในการออกแบบและประกอบดาวเทียมสำรวจโลก รวมทั้งเทคโนโลยีอวกาศสำหรับสำรวจโลกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 5. Space Business Prototyping เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ ที่ต้องการสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศเป็นฐาน GISTDA มีแผนที่จะให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก (Eastern Science Park) ที่มีมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นแม่ข่ายเข้ามาร่วมดำเนินการ เพื่อจะได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายของบัณฑิตและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาด ย่อมที่ต้องการสร้างธุรกิจในด้านนี้ 6. Entrepreneurial Development เป็นพื้นที่เช่าสำหรับบริษัทเอกชน ที่ต้องการทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่นำเทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศไปต่อยอดจนเกิดการทำงานร่วมกัน ระหว่างบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และ GISTDA ภายใต้นโยบายส่งเสริมนวัตกรรมของชาติ บริษัทที่มาทำการวิจัยและพัฒนาจะได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด และ 7. Recreation Area เพื่อให้ความสะดวกแก่นักวิจัย และผู้ปฏิบัติงาน ทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างงานและการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ใช้สำหรับกิจกรรมสันทนาการ
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
ถ่ายภาพ : นายองอาจ ทองเปลี่ยน