![]() |
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการประชุมหารือผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยในภาคใต้ที่จะจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า SMEs นักธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมปะชุม ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2555
ดร.ปลอดประสพ รมว.วท. เปิดเผยว่า หัวข้อที่จะประชุมหารือกันในวันนี้ ในส่วนที่เป็นปัจจุบันคือ การเตรียมการสำหรับประชุมคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคใต้ และภาพที่คู่ขนานกันมาสำหรับอนาคตการประชุมในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาจังหวัดในภาคใต้ให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก โดยอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถจับต้องได้คือ เป็นเงินเป็นทอง ส่งผลให้ประชาชนมีความสุข การประชุมเพื่อพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ผมมี 10 วิธีคิด และ 7 ขั้นตอนการทำงาน ดังนี้
1. ถ้าจะให้ประเทศชาติเจริญเติบโตไปข้างหน้า แข่งขันกับใครได้ เป็นประเทศที่ทันสมัยเสมอ จะต้องเชื่อสิ่งที่เป็นความจริงพิสูจน์ได้ นั้นคือวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ และก้าวต่อไปจะสามารถนำมาสร้างนวัตกรรม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ ทำให้ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง หรือพื้นที่นั้นๆ เติบโตขึ้น
2. เมื่อเราอยู่ในเวทีของการแข่งขันทางการค้า ต้องใช้ภาคธุรกิจเข้ามาเป็นโจทย์ ไม่ควรคิดเอาเอง
3. เมื่อใดที่เราพูดถึงการทำธุรกิจ ต้องพูดถึงผู้ค้าขาย ใครเป็นคนทำ พ่อค้านั้นคือใคร
4. เมื่อพูดถึงผู้ค้าขายในมุมของ ว และ ท แล้ว ต้องการระบบ Incubate หรือการบ่มเพาะธุรกิจ
5. เมื่อต้องการการบ่มเพาะ ก็ต้องการองค์ความรู้เพื่อการบ่มเพาะ
6. บนองค์ความรู้เพื่อการบ่มเพาะธุรกิจ ต้องการความรู้จากมหาวิทยาลัย เพราะมีบุคลากร และองค์ความรู้ที่มีศักยภาพ มีคุณภาพมาก
7. มหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่บ่มเพาะธุรกิจได้ดีมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีอุทยานวิทยาศาสตร์ นั้นคือ มีสถานที่ ขบวนการ วิธีการ องค์ความรู้ ทุน การติดตามและประเมิน ฯลฯ
8. อุทยานวิทยาศาสตร์จะต้องมีแผนธุรกิจที่ดี คล่องตัว รวดเร็ว และแม่นยำ เพื่อให้มีอุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ (Business Plan) ผมไปดูตัวอย่างของอุทยานวิทยาศาสตร์ที่ยุโรปมา คิดว่าน่าจะนำทีมทั้งสามคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ไปอยู่ที่เดนมาร์คหรือเนเธอร์แลนด์ ไปเขียน Business Plan ให้เสร็จ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ให้วิธีคิด เมื่อ Business Plan ออกมาดีน่าจะได้ผลที่ดีกว่าไม่มี
9. การจะทำธุรกิจให้สำเร็จ ต้องมีขบวนการคัดกรอง ดังนั้น ต้องคัดหาความแกร่งของเรื่องบางเรื่องและคนบางคนที่จะช่วยออกผลมาให้มีศักยภาพ มีผลกระทบสูงต่อประเทศ การอยากให้ประเทศไทยเป็น Detroit ของเอเชีย ซึ่งจะช่วยสร้างจุดเด่นให้ประเทศ อย่างวันนี้ภาคใต้ ผลิตยางพาราสารพัดรูปแบบ การคัดกรองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผลสำเร็จของอุทยานวิทยาศาสตร์ น่าจะวัดด้วยธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง ธุรกิจที่เป็นแบบอย่าง เป็นศูนย์กลางจักรวาล และเป็นต้นแบบของบริษัทอื่น
10. การคัดกรองที่ดีต้องมีเทคนิคและเวลา ดังนั้นต้องให้โอกาสในการทดลอง โดยให้ทุกคนเข้ามาสู่ระบบคัดกรองและให้ทุนไปทดลองทำ โดยไม่ต้องกลัวเจ๊ง เพราะในความเสี่ยงจะต้องมีคนที่จะประสบความสำเร็จ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
การคัดกรองเรื่อง การให้โอกาส ฯลฯ เป็นขบวนการบ่มเพาะเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ มี 7 เรื่อง คือ
1. เลือกเรื่องที่ได้เปรียบแน่นอน ความได้เปรียบนั้นก็ต้องดูว่าเราแข่งกับใคร แล้วเราได้เปรียบใคร เช่นเรื่องแรงงาน การมีโอกาสได้ทุนมากกว่า การมีสภาพภูมิศาสตร์ดีกว่า ฯลฯ
2. สิ่งนั้นมีความโดดเด่นหรือไม่ เพราะความโดดเด่นทำให้เกิดการเชื้อเชิญ คนยอมรับและเชื่อถือในสิ่งที่ทำ มีกำลังใจในการทำงาน
3. มีความเหนือทางวิชาการ เช่นมีฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการ
4. มีความเข้าใจ ความเข้าถึงของภาคธุรกิจ มีมากน้อยลึกซึ้งแค่ไหน สามารถที่จะยอมรับ Absorb ทุกสิ่งทุกอย่างหรือไม่
5. เมื่อทำการค้า ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมีการตลาดที่ดี ต้องเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มต้น จากที่ได้ไปดูงานมา ใครที่เข้ามาบ่มเพาะ ต้องไม่มาตัวเปล่า ต้องพกเอาความคิดที่โดดเด่นไม่เหมือนคนอื่นมาด้วย และความคิดนี้ต้องอธิบายได้ว่าจะขายได้อย่างไร และถึงจะแปลออกมาทางเทคนิคบนมาตรฐานของศูนย์บ่มเพาะว่า จะต้องมีเจ้าหน้าที่มากกว่าสองแต่ไม่เกินสิบคน ถึงจะมาบ่มเพาะได้ ประเทศไทยต้องคิดในเรื่องนี้
6. เรื่องที่เลือกขึ้นมาต้องสามารถและถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้
7. สิ่งที่จะทำต่อไปนี้ควรมองให้เป็น Program – based มากกว่า Project – based ควรมองให้เป็นองค์รวมใหญ่ๆ ปัญหาการ Incubate ที่เป็น Project ซึ่งทางอุทยานวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นคนที่รวม Program และอยากเห็นการผลักดันแบบ cluster ในรูปแบบของกลุ่มจังหวัด ไม่ใช่แค่จังหวัดสงขลา
หลังจากการประชุมหารือผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคแล้ว ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชม บริษัท ฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการในโครงการ iTAP อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ณ อ.จะนะ จ.สงขลา
ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ภาพข่าว : นายองอาจ ทองเปลี่ยน