![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล” ณ ห้องประชุมจอมขวัญ โรงแรมนาข่าบุรี รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จัดโดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555
สำหรับงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล” นี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่น โดยมีเทศบาล/ตำบล ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และจะมีการสัมมนาในรูปแบบเดียวกันนี้ทั่ว ทุกภาคของประเทศ โดยในปี 2555 จะดำเนินการร่วมกับตำบลนำร่อง จำนวน 500 ตำบล ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง และดำเนินการให้ครบ 4,000 ตำบล ทั่วประเทศ ภายในปี 2557
ดร.ปลอดประสพ รมว.วท. เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กมีความสำคัญ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากขาดแคลนน้ำ ซึ่งการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำโดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กสามารถทำได้ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เริ่มแรกก็ทำอย่างเดียวกันกับโครงการนี้ แต่ว่าคุณภาพคงต่ำกว่ามาก การหาข้อมูลแหล่งน้ำธรรมชาาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่ามีที่ไหนบ้าง สภาพแหล่งน้ำเป็นเช่นไร ใครเป็นคนสร้าง สามารถใช้ประโยชน์หรือมีอุปสรรคด้านใดบ้าง เวลาสร้างแหล่งน้ำคนทำก็ไม่รู้หรอกว่าที่ใดสูงที่ใดต่ำ พอทำเสร็จน้ำไม่เข้าเพราะไปสร้างในที่สูง ดินที่ขุดไว้ก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน ก็เลยทำเป็นคูรอบ น้ำก็ยิ่งไม่มีทางเข้า อีกอย่างทำเสร็จแล้วก็ไม่รู้จะไปมอบให้ใคร เวลาทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่สัก 100 - 200 ไร่ มีประตูระบายน้ำ มีฝายเล็กๆ เอาชาวบ้านมาทำ เอากุญแจคล้องไว้ แล้วฝากไว้กับใครก็ไม่รู้ จึงมีคำพูดกันในสมัยนั้นว่า ปัญหากุญแจดอกเดียวเปิดไม่ได้ เรื่องเครื่องสูบน้ำก็ไม่มีเงินซื้อ ไฟฟ้าก็ไม่มี ทำอย่างนั้นอยู่ประมาณ 2 - 3 ปี จึงได้มีแผนพัฒนาชนบทยากจนขึ้น เพื่อพัฒนาชนบทของประเทศไทย ต่อมาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของมนุษย์จึงได้พัฒนาเป็น จปฐ. หรือความจำเป็นพื้นฐาน ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของสิ่งเหล่านี้ในช่วง 30 ปี เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถสื่อสารหรือส่งข่าวจากที่ใดก็ได้ เวลาเลือกสถานที่ที่จะสร้างก็เลือกได้อย่างถูกต้อง เพราะรู้ว่าที่ใดสูงที่ใดต่ำ ก็เกิดการเชื่อมต่อระหว่างแหล่งน้ำโดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติ เชื่อว่าในอีกหลายปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยคนไทยได้เยอะ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ที่สำคัญ สสนก. ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีแจ้งข่าวติดตามสถานการณ์น้ำ (Media box) และจะติดตั้งให้กับ อบต. ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที ข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ คาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน ภาพถ่ายจากดาวเทียมเมฆล่าสุด ปริมาณฝน ปริมาณน้ำในเขื่อน เป็นต้น
นอกจากการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นแล้ว สสนก. ยังได้มีการดำเนินงานด้านการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง โดยประสบผลสำเร็จในชุมชนต้นแบบแล้วกว่า 25 แห่ง สามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศแล้วกว่า 87 แห่ง และจะเพิ่มอีก 51 แห่ง ในปี 2555
ข้อมูลโดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก.
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 0 2333 3732