กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วท. มอบเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูจากอวกาศ ในโครงการ Space Seed for Asian Future 2010-2011

รมว.วท. มอบเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูจากอวกาศ ในโครงการ Space Seed for Asian Future 2010-2011

พิมพ์ PDF

        

      ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีมอบเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูจากอวกาศ ในโครงการ Space Seed for Asian Future 2010-2011 ให้กับคณะครู-นักเรียน 14 โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อนำกลับไปทำการทดลองปลูกเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ส่งขึ้นไปอวกาศ ซึ่งเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูไทยดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังอวกาศ และโคจรรอบโลกนานกว่า 4 เดือน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2555 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้

       ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขอชื่นชมคณะนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Space Seed for Asian Future โดยหวังว่าทุกท่านจะสามารถนำเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศนี้ ไปทำการทดลอง พัฒนาความรู้ต่อยอด อันเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม ทั้งนี้ โครงการมอบเมล็ดพันธุ์เมล็ดพริกจากอวกาศเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน ประกอบด้วยคณะครูและนักเรียนจาก 14 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.ประชาวิทย์ จ.ลำปาง,ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม,ร.ร.ผ่องสุวรรณวิทยา สายไหม กรุงเทพฯ,สาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น (2),ร.ร.ไม้ยาวิทยาคม จ.เชียงราย,ร.ร.หนองเต่าวิทยา จ.อุทัยธานี, ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า กรุงเทพฯ,ร.ร.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ (2),ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์,ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ,ร.ร.เทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ, ด.ช.อินทัช บรูเซอร์แฟนเกอร์โน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคน จะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่หลากหลายต่อกัน และขอชื่นชม สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดส่งเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูของไทย ขึ้นไปโคจรในอวกาศ ซึ่งนอกจากเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศ เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกในด้านเทคโนโลยีอวกาศ อันจะได้มีโครงการอื่นๆ อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

 

 

        อย่างไรก็ตาม โครงการฯ นี้ จะสมบูรณ์แบบ และมีส่วนร่วมโดยประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนทุกท่าน ในการเผยแพร่ข้อมูลและผลการดำเนินโครงการนี้ รวมทั้งโครงการต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะมีอีกต่อไปสู่สาธารณชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยโดยรวมต่อไปในอนาคต และหวังว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถ และนำประโยชน์ที่ได้จากประสบการณ์ครั้งนี้ ซึ่งยากจะหาได้จากโครงการใด ไปพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนสำคัญของประเทศต่อไป

        ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) กล่าวว่า สวทช. ได้รับการติดต่อจากสำนักงานการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency) ว่า จรวดเอชทีวี 2 ซึ่งเป็นจรวดขนส่งสัมภาระของ JAXA ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ยังมีพื้นที่ว่าง และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ได้สิทธิในการส่งสัมภาระไม่เกิน 100 กรัม ขึ้นไปโคจรในอวกาศเป็นครั้งที่สอง โดยในครั้งนี้ เราได้ส่งเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูของไทยไปกับจรวดเอชทีวี 2 ซึ่งถูกยิงจากฐานปล่อยจรวดทาเนกะชิมะ (Tanegashima) ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2554 โดยเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวโคจรรอบโลกเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน และได้เดินทางกลับสู่พื้นโลกพร้อมกับกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งเที่ยวบินดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของยานกระสวยอวกาศ และยานเอนเดฟเวอร์ก็เป็นยานกระสวยอวกาศลำสุดท้ายของชุดยานดังกล่าว โดยมีเที่ยวบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2535 หรือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว และเป็นยานลำแรกที่นำชิ้นส่วนของสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ส่วนที่เป็นของสหรัฐอเมริกา ขึ้นไปก่อสร้างอีกด้วย และภายใน ISS ลำนี้มีเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูจากประเทศไทยได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกอยู่นานกว่า 4 เดือน โดยชื่อ “เอนเดฟเวอร์” ของยานกระสวยอวกาศลำนี้  ได้มาจากชื่อเรือสำรวจของกัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้โด่งดังนั่นเอง

 

 

       สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัย รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จึงได้จัดตั้งโครงการเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ อีกทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนของเราได้มีโอกาสร่วมในงานวิทยาศาสตร์สาขาสำคัญของโลก คือวิทยาศาสตร์อวกาศ สวทช. ได้พิจารณาข้อเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศที่ส่งมาจากนักเรียนผู้สนใจทั่วประเทศ ซึ่งในวันนี้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 14 โครงงานได้มาอยู่ ณ ที่แห่งนี้แล้ว และหวังว่าผู้ได้รับคัดเลือกทุกคน จะได้ประสบการณ์อันล้ำค่าจากการเข้าร่วมโครงนี้ รวมทั้งได้พัฒนาศักยภาพของตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป จนสามารถประสบความสำเร็จ และได้เป็นบุคลากรอันทรงคุณค่าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต

        ทั้งนี้ โครงการ Thailand Zero-Gravity Experiment เปิดรับสมัครผลงานด้านวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ 2555 นี้ เพื่อวัตถุประสงค์กระตุ้นให้นักวิจัย นักเรียน และนักศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศของไทย  ได้ร่วมส่งงานวิจัยขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ  และขึ้นทำการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนเที่ยวบินพาราโบลิก  

ผู้ส่งข่าว   :    เกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์
                  ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ภาพข่าวและเผยแพร่  :  ศิริลักษณ์ สิกขะบูณะ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป