สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอดูดาวแห่งชาติ ว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” มั่นใจการก่อสร้างและการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานต้นปี 2555
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการหอดูดาวแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีทวนสัญญาณทีโอที กม.44.4 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า สดร. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอดูดาวแห่งชาติว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” ซึ่งจะติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร พร้อมระบบโดมอัตโนมัติ นับเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
![]() |
||
รูปที่ 1 ภาพจำลองหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรราษา |
สำหรับการก่อสร้างหอดูดาวฯ ขณะนี้(พฤศจิกายน 2554) งานด้านโครงสร้างของหอดูาว เช่น การก่อสร้างฐานราก อาคารหอดูดาว และอาคารควบคุมต่างๆ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์ เหลือเพียงขั้นตอนของการติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบเครือข่าย รวมทั้งการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์และระบบควบคุม
![]() |
![]() |
รูปที่ 2 การประกอบส่วนยอดโดมหอดูดาว |
![]() |
||
รูปที่ 3 วิศวกรจากบริษัท Capital Marine Glass ประเทศออสเตรเลีย และทีมเจ้าหน้าที่ สดร. กำลังประชุมวางแผนดำเนินงานการประกอบโดม |
ในส่วนกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร พร้อมระบบโดมอัตโนมัติ มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ขณะนี้ชิ้นส่วนต่างๆ ของกล้องโทรทรรศน์ได้ส่งจากสหรัฐอเมริกามาถึงประเทศไทยแล้ว โดยประมาณต้นเดือนธันวาคม จะมีทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท EOS Technologies ผู้ผลิต เดินทางมาควบคุมดูแลการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์พร้อมระบบควบคุมฯ ดังกล่าว โดยคาดว่าจะใช้เวลาประกอบและติตตั้งประมาณ 2 สัปดาห์
![]() |
||
รูปที่ 4 กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกระจก 2.4 เมตร ผลิตโดย บริษัท EOS Technologies สหรัฐอเมริกา |
โครงการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เป็นหนึ่งในโครงการหลักของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากลทัดเทียมกับนานาชาติ ก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการอย่างกว้างขวางกับนักวิชาการและหน่วยงานทางดาราศาสตร์ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทยอีกด้วย
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ