ข่าวในพระราชสำนัก
วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พุทธศักราช 2554
วันนี้ เวลา 17 นาฬิกา 58 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น ๑๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นำคณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าการสนองพระราชดำริด้านงานวิจัยของสถาบันฯ สรุปสถานการณ์น้ำประเทศไทย ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ และเดือนมกราคม – เดือนสิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ การคาดการณ์สภาพอากาศประเทศไทย ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ผลการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ ๔ และการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในปีนี้ ราษฎรได้รับความเดือนร้อนจากปัญหาน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ เนื่องจากฝนที่มาเร็วกว่าปกติตั้งแต่ต้นปีและตกต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้เต็มความจุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบปัญหาดังกล่าว จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันฯ ไปส่งเสริม สนับสนุนการป้องกันและบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้กับหน่วยงานต่างๆ และราษฎรต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริด้านงานวิจัยระบบโทรมาตรและแบบจำลองลม เมื่อพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับไปดำเนินการสนองพระราชดำริ ปัจจุบันสถาบันฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีโทรมาตรตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำด้วยคลื่นเรดาร์ โดยคำนวณระดับน้ำจากคลื่นสะท้อนระหว่างอุปกรณ์กับผิวน้ำ ทำให้สามารถวัดระดับน้ำในแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง และอุปกรณ์ไม่เสียหายจากกระแสน้ำเชี่ยว จึงไม่จำเป็นต้องบำรุงรักษาบ่อยครั้ง ส่วนเรื่องแบบจำลองลมและแบบจำลองสภาพอากาศ สถาบันฯ ได้ดำเนินการร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้สามารถคาดการณ์ลมและสภาพอากาศล่วงหน้าได้ ๗ วัน ความละเอียด ๓ x ๓ กิโลเมตร โดยส่งข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินงาน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้เตรียมการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย กรมชลประทานใช้ติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ใช้วางแผนรับสัญญาณข้อมูลดาวเทียม ติดตามและประเมินความเสียหายจากอุทกภัย สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ใช้วางแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น
รายงานสรุปสถานการณ์น้ำในประเทศไทย พบว่า ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ มีปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศ ๑,๔๓๖ มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ ๔.๕ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝน ได้แก่ ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกผิดปรกติไปจากค่าเฉลี่ย คือ หากอุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณใกล้ประเทศฟิลิปปินส์สูงกว่าปรกติ ก็จะเป็นปรากฏการณ์ลานิญา ประเทศไทยจะมีฝนมาก ในทางตรงกันข้าม หากอุณหภูมิในบริเวณนั้นต่ำกว่าปรกติ ก็จะเป็นปรากฏการณ์เอลนิโญ ประเทศไทยก็จะมีฝนน้อย ปรากฏการณ์ทั้งสองมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในระดับปีและฤดูกาล สำหรับในเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ มีปริมาณ น้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากอิทธิพลของเอลนีโญ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งและประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนช้ากว่าปกติ แต่ในเดือนสิงหาคม และเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเนื่องจากอิทธิพลของลานีญา ทั้งนี้ มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ๓ ลูกคือ พายุโซนร้อนโกนเซิน พายุโซนร้อนมินดอลเล และพายุไซโคลนจาล เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คิดเป็นพื้นที่น้ำท่วมรวมทั้งสิ้น ๓๔ ล้านไร่
ส่วนในปีนี้ พบว่าฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติ ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม มีปริมาณฝน ๑,๒๒๗ มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ ๓๘ ทั้งนี้ เนื่องจากอิทธิพลของลานีญาในครึ่งปีแรก และตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา อิทธิพลของลมประจำภูมิภาคคือลมสินค้าทางซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ และลมประจำท้องถิ่นคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงกว่าปกติ รวมทั้งพายุโซนร้อนไหหม่าและนกเตน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำสะสม ณ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อน
การคาดการณ์สภาพอากาศประเทศไทยปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ นั้น ได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๓ และตรวจสอบคาดการณ์อีกครั้งเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ คาดว่าปริมาณฝนปี ๒๕๕๔ จะมากกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มากกว่าหรือใกล้เคียงกับปีน้ำมาก คือ ปี ๒๕๕๑ เนื่องจากในครึ่งปีหลังอิทธิพลของลมประจำภูมิภาค คือลมสินค้าทางซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ และลมประจำท้องถิ่น คือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แรงกว่าปกติ ซึ่งจากการศึกษาลายพิมพ์นิ้วมือของน้ำฝนด้วยกระบวนการที่เรียกว่าไอโซโทปทำให้ทราบว่าภูมิอากาศของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวงจรการหมุนเวียนของอากาศ ๒ วงจรในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นผลมาจากลมสินค้าและลมมรสุมดังกล่าว และวงจรดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสภาพอากาศภายในฤดูกาล
สำหรับผลการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ ๔ มีชุมชนเข้าร่วมประกวดทั่วประเทศ ชุมชนที่ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ ชุมชนบ้านคลองเรือ ตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ส่วนชุมชนรองชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายแม่หาด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ผู้แทนชุมชนดังกล่าว เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัล ในวันอังคาร ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา
ในส่วนของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชุมชนได้ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำและการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ข้อมูลอากาศและน้ำ แผนที่ ภาพถ่ายจากดาวเทียม แบบจำลองการไหลของน้ำ สมดุลน้ำ สามารถสร้างรายได้ ลดหนี้สิน และเพิ่มทรัพย์สินให้กับชุมชน ดำเนินการแล้ว ๑๐๗ ชุมชน และจะเพิ่มขึ้นอีก ๔๐ ชุมชน ในปีหน้ารวมทั้งสิ้น ๑๔๗ ชุมชน
อนึ่ง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเห็นความเดือดร้อนของราษฎรเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง จึงได้เสด็จไปทรงติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการจัดการน้ำชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ฯ ในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ อำเภอเมือง และอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริด้านงานวิจัยระบบโทรมาตรและแบบจำลองลม ให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาเทคโนโลยีโทรมาตรตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำด้วยคลื่นเรดาร์ พร้อมกันนี้ สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำแบบจำลองลมและแบบจำลองสภาพอากาศ ที่สามารถคาดการณ์ลมและสภาพอากาศล่วงหน้าได้ 7 วัน เพื่อส่งข้อมูลให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ในการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ วางแผนรับสัญญาณข้อมูลดาวเทียม ตลอดจนติดตามและประเมินความเสียหายจากอุทกภัย ใช้วางแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น
ข้อมูลจาก
1. สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2. ข่าวในพระราชสำนัก กรมประชาสัมพันธ์
ผู้เผยแพร่ข่าว นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ