กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน เริ่มแล้วประชุมดาราศาสตร์โลก สดร.ปลื้มสุดยอดนักดาราศาสตร์คับคั่ง

เริ่มแล้วประชุมดาราศาสตร์โลก สดร.ปลื้มสุดยอดนักดาราศาสตร์คับคั่ง

พิมพ์ PDF

ครั้งแรกในอาเซียน ชวนคนไทยชมงาน AstroExpo ฟังบรรยายฟรี

              สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดงาน APRIM 2011 รับทัพสุดยอดนักดาราศาสตร์จากทั่วโลก ระดมนวัตกรรมล้ำยุคและโครงการยักษ์ข้ามทวีปมูลค่าหลายแสนล้านบาทมาแสดงให้คนไทยได้ชมฟรีทุกเย็น ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 กรกฎาคม 2554 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554  โดยมี ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมวิชาการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่  11 (APRIM2011) เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาดาราศาสตร์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เตรียมเปิดหอดูดาวแห่งชาติปีหน้า พร้อมขอบคุณเหล่านักดาราศาสตร์ระดับโลกที่เดินทางมาประชุมที่เมืองไทย งานนี้ยังมี นายวรการ ยกยิ่ง รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ , ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สดร. , ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. , ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดี มช. และผู้บริหารองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาของประเทศ ร่วมงานอีกหลายท่าน
 

              รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. ในฐานะเจ้าภาพหลัก APRIM2011 กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการดาราศาสตร์ไทย “เรากำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า เพียงสามปีหลังจาก สดร.เริ่มทำงาน ณ วันนี้วงการดาราศาสตร์โลกมองเห็นอนาคตที่สดใสของเรา จากความพยายามในการพัฒนาทุกๆ ด้าน ความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติที่มี สดร.เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายกำลังสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ โครงสร้างพื้นฐานอย่างหอดูดาวแห่งชาติ และหอดูดาวภูมิภาคเพื่อประชาชนจะต่อยอดงานวิจัยและเผยแพร่สู่ประชาชนไทยและประชาคมโลก สสวท. กับ สดร.ก็กำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์ เพราะเราเชื่อมั่นว่าดาราศาสตร์จะดึงดูดเด็กและเยาวชนของเราให้สนใจวิทยาศาสตร์ได้ไม่ยาก ความอุตสาหะของเราเป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก กล่าวได้ว่าการประชุมครั้งนี้เปิดตัวเมืองไทยสู่วงการดาราศาสตร์นานาชาติอย่างน่าภาคภูมิใจ”
              APRIM2011 มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 ท่านจากทุกทวีป จำนวนไม่น้อยที่เป็นนักดาราศาสตร์ที่สร้างผลงานวิจัยระดับโลก “เราได้ต้อนรับสุดยอดนักดาราศาสตร์หลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.โนริโอะ ไคฟุ ว่าที่ประธานสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงโจซิลิน เบลล์ เบอร์แนล อดีตนายกสมาคมฟิสิกส์แห่งสหราชอาณาจักร ผู้ค้นพบพัลซาร์เป็นคนแรก ศาสตราจารย์จอร์ช มิเลย์ รองประธานสหพันธ์ฯ ผู้อยู่เบื้องหลังความร่วมมือโครงการระหว่างประเทศด้านดาราศาสตร์หลายโครงการ รวมไปถึงนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่น คุณคริสโตเฟอร์ โก ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ชาวฟิลิปปินส์ที่รักการถ่ายภาพดาวเคราะห์จนค้นพบจุดแดงน้อยบนดาวพฤหัสบดีได้เป็นคนแรกของโลก เป็นต้น
              การประชุม APRIM2011 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2554 แบ่งเป็นการประชุมวิชาการ 3 วัน ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่ และวันเยี่ยมชมหอดูดาวแห่งชาติ และสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อีก 1 วัน


              ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สดร. ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวว่า “ตลอดการประชุมสามวัน จะมีหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับดาราศาสตร์ทั้งด้านการวิจัย การค้นพบใหม่ โครงการร่วมมือระหว่างประเทศ ไปจนถึงการส่งเสริมการเรียนการสอนดาราศาสตร์รวมกว่า 200 หัวข้อที่จะนำเสนอสู่ที่ประชุม โดยเฉพาะหัวข้อด้านการเรียนการสอนดาราศาสตร์ จะมีครูวิทยาศาสตร์แกนนำจาก สสวท. เข้าร่วมฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งจากนักพัฒนาการศึกษาแนวหน้าของเมืองไทย และนักวิจัยจากทั่วโลก” 
              “วิทยาการดาราศาสตร์ก้าวหน้าไปเพียงใดเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมทุกครั้ง แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างความร่วมมือกันในทุกระดับระหว่างประชาคมนักดาราศาสตร์ด้วยกัน” ดร.ศรัณย์ให้ความเห็นเพิ่มเติม “ครั้งนี้เรามีประชุมนัดพิเศษ เฉพาะกลุ่ม เพื่อให้นักดาราศาสตร์ได้พบปะพูดคุยกัน มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ กลุ่มนักดาราศาสตร์หญิง และกลุ่มนักดาราศาสตร์ในอาเซียน (SEAAN) ประชุมพิเศษทั้ง 3 นัด จัดขึ้นเวลา 12.30-14.00 น. วันที่ 26, 27 และ 28 กรกฎาคม ตามลำดับ              


              สำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ดร.ศรัณย์เชิญชวนให้มาร่วมกิจกรรมของ APRIM2011 ในช่วง 16.00-19.30 น. ของทุกวัน ซึ่งประกอบด้วย AstroExpo 2011 และการบรรยายพิเศษเพื่อสาธารณชน
              AstroExpo 2011 คนไทยจะได้สัมผัสกับนวัตกรรมและผลงานวิจัยทางดาราศาสตร์ อาทิภาพยนตร์ที่ถ่ายทำพิเศษเพื่อการศึกษาท้องฟ้าและเอกภพถ่ายทำด้วยกล้อง HD จากยานอวกาศฮิโดเนะของญี่ปุ่น ตื่นตาตื่นใจกับโครงการกล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์เส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เมตรของเกาหลี (Giant Macgellan Telescope, GMT) ชมสาธิตการใช้กล้องโทรทรรศน์พร้อมระบบโดมอัตโนมัติ ตระการตากับท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ขนาดยักษ์พร้อมเครื่องฉายดาวรอบทิศทางจากรัสเซีย นิทรรศการพระมหากษัตริย์ไทยกับดาราศาสตร์ สะท้อนพระปรีชาสามารถด้านดาราศาสตร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งนิทรรศการแสดงอุปกรณ์เครื่องมือทางดาราศาสตร์ และนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
              การบรรยายพิเศษเพื่อสาธารณชน ใน APRIM2011 มี 3 หัวข้อ ประกอบด้วย "ฤาโลกดับแน่แล้ว..ไม่แคล้วปีหน้า: ในมุมมองดาราศาสตร์" โดยนักดาราศาสตร์หญิงผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง โจเซลิน เบล เบอร์เนล ผู้ค้นพบดาวนิวตรอน หรือ "พัลซาร์" ดร.เบอร์เนลรวบรวมทุกสมมติฐานเรื่องวันสิ้นโลกมาอภิปรายในมุมมองของนักดาราศาสตร์ถึงความเป็นไปได้ที่โลกจะดับสูญในปีหน้าบรรยายวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 เวล 18.00 น.
              "ตั้งกล้อง  ส่องฟ้า ล่าดาว" บรรยายโดยคริสโตเฟอร์ โก ผู้ได้รับเชิญจากนาซ่าให้ทำการวิจัยร่วมเพื่อติดตามจุดแดงน้อยบนดาวพฤหัสบดีด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ภาพถ่ายดาวเคราะห์ของโกนับว่าสวยงามโดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก บรรยายวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 เวลา 16.00 น. และหัวข้อสุดท้าย "ย้อนรอยนักถอดรหัสแห่งเอกภพ” ฉลองครบรอบ 100 ปี โกรท เรเบอร์ บิดาแห่งดาราศาสตร์วิทยุ บรรยายโดย มาร์ติน จอร์จ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย บรรยายวันเดียวกัน เวลา 18.00 น.    

 


ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 0 2333 3700 ต่อ 3728

ถ่ายภาพข่าว : นายรัฐพล หงสไกร

 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป