เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 นายคมจิต ลุสวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายจาก ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหมู่บ้าน ว และ ท และเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตภัณฑ์จากหมากเม่า ณ บ้านหมากเม่า สหกรณ์การเกษตรโนนหัวช้าง ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร โดยมี คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ส่วนราชการ และชาวบ้านในชุมชนให้การต้อนรับ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
โอกาสนี้ นายคมจิต ลุสวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึง การที่คนในชุมชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของต้นเม่า และหันมาใส่ใจในการปลูกต้นเม่า เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพมากขึ้น และนโยบายของ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องการนำวิทยาศาสตร์ฯ มาช่วยสร้างประโยชน์ในการประกอบอาชีพของคนในชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหมากเม่าให้เป็นสินค้าที่ไปสู่ตลาดสากลต่อไป
จากนั้น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบรางวัลแก่ผู้ดูแลต้นเม่าดีเด่น แจกพันธุ์เม่า พร้อมทั้งปลูกต้นเม่าร่วมกับชุมชน เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากน้ำหมากเม่า ไวน์หมากเม่า ที่ชาวบ้านในชุมชนได้รับการฝึกอบรมกระบวนการผลิตจากงานวิจัยและพัฒนาคลิกนิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร พร้อมกันนี้ ได้เยี่ยมชมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตขนมเคี้ยวหนึบจากเม่า การผลิตชาเม่า และตรวจเยี่ยมพื้นที่การปลูกต้นเม่าของคนในชุมชนบ้านโนนช้าง
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ทั้งนี้ หมู่บ้านโนนหัวช้าง ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่แถบเทือกเขาภูพาน มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นเม่า จึงมีต้นเม่าที่ปลูกในพื้นที่หมู่บ้านจำนวนมาก และมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เม่าในพื้นที่ถึง 4 โรงงาน และหนึ่งในนั้นคือ สหกรณ์การเกษตรโนนหัวช้างที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดสกลนครในการจัดตั้งโรงงานแปรรูปน้ำผลไม้และไวน์ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ และไวน์สำหรับชุมชน ดังนั้น การพัฒนาหมู่บ้านโนนหัวช้างให้เป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงตรงกับความต้องการของชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเสริมศักยภาพการดำเนินการในด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และคุณภาพผลิตภัณฑ์ในด้านอาหาร เครื่องดื่ม ยา และเครื่องสำอางค์ เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ยั่งยืนในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ภาพโดย : นางสาวอุษา ขุนเปีย
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 0 2333 3732 โทรสาร 0 2333 3834