กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วท.เิปิดตัวโครงการคูปองนวัตกรรม หนุน SMEs ไทย

รมว.วท.เิปิดตัวโครงการคูปองนวัตกรรม หนุน SMEs ไทย

พิมพ์ PDF

 

          วันนี้ (28 กุมภาพันธ์  2554) เวลา 09.00 น.  ณ ห้อง MEETUNG ROOM  1-2  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”   พร้อมด้วย  นายศุภชัย  หล่อโลหะการ  ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)   นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล   ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  แขกผู้มีเกียรติ  และสื่อมวลชนร่วมงาน

 

 

              โครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม   คือ เงินทุนสนับสนุนในรูปแบบของคูปอง  วงเงิน 100,000 – 400,000 บาท  คิดเป็นร้อยละ 90  ของมูลค่าโครงการที่ขอรับการสนับสนุน  เพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรมในช่วงเริ่มต้นจากความต้องการของ SMEs  แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1)  การศึกษาความเป็นไปได้ของนวัตกรรม (Feasibility)  วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อโครงการ จำนวน 400 โครงการ  และ (2) กาต่อยอด/พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือปรับปรุงกระบวนการใหม่ (Implementation)  วงเงินไม่เกิน 400,000 บาท ต่อโครงการ  จำนวน 150  โครงการ

 

          ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล   กล่าวต่อว่า  เป็นที่ทราบกันดีว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ  คำถามคือ ทำไมนวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยมากสำหรับประเทศไทย  ซึ่งอาจจะมีมาจากหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น  เรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา  หรือ การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง  ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะลงทุนสร้างสิ่งใหม่ๆ ออกมา เพราะไม่มีอะไรจะแสดงได้ว่า สิ่งนั้นจะได้รับสิทธิ์ในการคุ้มครอง  ดังนั้น  คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือ ความเสี่ยง    นวัตกรรม คือ ความคิดใหม่ๆ   อะไรที่แปลกใหม่  และมีความเสี่ยง  คนก็ไม่อยากที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ  เพราะเมื่อทำไปแล้วไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่  ผู้ประกอบการ  หากมีความคิดอะไรใหม่ๆ ในเชิงสร้างสรรค์  อาจจะมีปัญหาด้านที่ปรึกษาว่าสิ่งที่คิดถูกต้อง และสามารถนำมาปฏิบัติจริงได้หรือไม่ในองค์กร  หรือปัญหาด้านเงินทุน  ที่ต้องใช้เงินทุนมาก  ฉะนั้น  โครงการนี้ เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดทางสังคมนวัตกรรมซึ่งอาจจะตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด  แต่จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ ที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งที่ขาดหายไป ในการที่จะสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย  ลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการเพื่อที่จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น 

                ในฐานะที่ดูแลทางด้านนโยบายตรงนี้ คิดว่า สิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าโครงการนี้ จะสำเร็จหรือไม่ คือ (1)  มุ่งเน้นการสร้างผู้ให้บริการทางด้านนวัตกรรม หรือ Innovation Service Provider : ISP  ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้  ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการ  และ (2) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน )  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นผู้สนับสนุน และภาคเอกชน คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการโครงการทั้งระบบ  ตั้งแต่การคัดเลือกผู้ประกอบการ  ผู้ให้บริการนวัตกรรม  ตลอดจนเป็นสะพานเชื่อมทั้ง2 กลุ่มนี้ มาทำงานร่วมกัน  ผ่านทางคูปองนวัตกรรม  ซึ่งจะเป็นตัวที่ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของเงินทุน

          เรื่องที่ 2  ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากคือ กลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด คือ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก  และ ผู้ประกอบการในต่างจังหวัด  ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากเห็น  อยากให้เกิดขึ้น  ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ท่านนายกรัฐมนตรี  นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  ด้มอบหมายงานให้ คือ อยากจะเห็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์  ไปพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย   ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด 

          เรื่องสุดท้าย คือ การดำเนินการต่อไปสำหรับโครงการนี้ ต้องยอมรับว่าโครงการใหม่ๆ ลักษณะนี้อาจมีข้อบกพร่องบ้าง ทุกท่านสามารถเสนอแนะข้อคิดเห็นได้เพื่อให้โครงการต่างๆ เหล่านี้ดีขึ้น ก็อยากจะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน  และอาทิตย์นี้ ผมมีภารกิจเดินทางไป จ.สระบุรี  เพื่อรับฟังคิดเห็นในการที่จะไปผลักดันโครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ  โดยมีผู้บริหารจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเดินทางด้วย

          ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เปิดเผยว่า  โครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ  เป็นความคิดริเริ่มและเป็นความร่วมมือกัน ระหว่าง 2  องค์กรที่สำคัญ  คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)   กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย   ส่วนตัวมีความเชื่อว่า  องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ จะเป็นพื้นฐานสำคัญ  อันนำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ  และตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ คือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายเพิ่มขีดความสามารถในการการแข่งขัน ของเศรษฐกิจไทย  

 

               ด้าน นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  โลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงเช่นในปัจจุบันส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะ การสร้างความแตกต่าง  และ การสร้างตราสินค้า   เพื่อนำไปสู่ความอยู่รอดทางธุรกิจ  โดยอาจต้องนำเทคนิคและวิธีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกัน  คำว่า นวัตกรรม  จึงได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางเพื่อนำมาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์  แต่จะเห็นได้ว่า การทำนวัตกรรม นั้นถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก   ดังนั้น  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.)   และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) จึงได้ริเริ่ม โครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ ขึ้น  โดย ส.อ.ท ได้รับงบประมาณสนับสนุน จาก สนช.  จำนวน 120 ล้านบาท  สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs  ในการเริ่มต้นพัฒนาโครงการนวัตกรรม  โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ (1)  การศึกษาความเป็นไปได้ของนวัตกรรม  และ (2) การต่อยอด/พัฒนา ผลิตภัณฑ์ หรือปรับปรุงกระบวนการใหม่  ทั้งนี้  ส.อ.ท.  จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่ขั้นตอนการแสวงหาและคัดเลือกผู้ประกอบการ  และผู้ให้บริการงานนวัตกรรม( Innovation  Service  Provider  : ISP)  พร้อมทั้งหารจัดอบรมสำหรับการยื่นข้อเสนอโครงการนวัตกรรม  ตลอดจนพิจารณาสนับสนุนและประเมินผลความสำเร็จของโครงการที่เข้ามาขอรับการสนับสนุน  โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ  ทั้งระดับจังหวัด  ภูมิภาค และประเทศ

               ด้าน นายศุภชัย  หล่อโลหะการ  ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า  โครงการคูปองนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ  ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่จะช่วยผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำแนวคิดด้านนวัตกรรมไปปรับใช้ในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น  ซึ่งจากการดำเนินการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมของ สนช.  ภายใต้กลไกการสนับสนุนด้านวิชาการและการเงินนั้น  พบว่า  มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงของการดำเนินโครงการนวัตกรรมด้วยตัวเอง  ทำให้การพัฒนาโครงการนวัตกรรมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs  อยู่ในวงจำกัด  ดังนั้น  เพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เป้นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกจังหวัด  สนช. จึงได้ริเริ่มและแสวงหาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ให้กับผู้ประกอบการ  โดยการจัดทำ  โครงการคูปองนวัตกรรมสำไหรับผู้ประกอบการขึ้น  เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมรังสรรค์และการทำงานเป็นทีมของ ผู้ประกอบการ SMEs  และผู้ให้บริการงานนวัตกรรม  ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการนวัตกรรมจากแนวคิดที่มีความพร้อมทั้งในแง่เทคโนโลยี  และการตลาด  ซึ่งจะส่งผลดีต่อการตัดสินใจในการลงทุนธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประะกอบการ SMEs ต่อไปในอนาคต


เขียนข่าวโดย  :  นางสาวอุษา  ขุนเปีย
ภาพโดย          :  นายชัชวาลย์  โบสุวรรณ

เผยแพร่โดย     :  นางสาวศิริลักษณ์  สิกขะบูรณะ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์   โทร. 0 2333 3732

 

         

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป