ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.พูนสุข กีฬาแปง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. รศ.นพ.สุธี ยกส้าน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาวัคซีนลูกผสมเชื้อเป็นออ่นฤทธิ์ป้องกันไช้เลือดออกครั้งแรกของโลก ตลอดจนการลงนามอนุญาตให้บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย รับสิทธิ์ในการรับไปพัฒนาต่อเป็นวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้ในอนาคตอันใกล้ ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า วันนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประสบความสำเร็จในการทำวัคซีนเชื้ออ่อนป้องกันไข้เลือดออกในระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและประเทศไทย และนับวันก็จะมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ต่อรวมถึงภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภูมิภาคเอเชีย อาฟริกา และลาตินอเมริกา โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ไม่ใช่พี่งเกิดขึ้นได้ภายในวันนี้ แต่เป็นการต่อยอดของนักวิจัยชาวไทยที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลายาวนาน อาจารย์หลายท่านบอกว่า 20 ปีบ้าง 30 ปีบ้าง เป็นการรวมความรู้ความสามารถและความชำนาญของแต่ละองค์กรเข้ามาด้วยกัน เช่น ความสามารถในการพัฒนาเชื้อไวรัส ความสามารถในการคัดเลือกสายพันธุ์ของไวรัสที่เหมาะสมที่จะนำมาทำประโยชน์ ซึ่งก็คือการนำเอามาพัฒนาเป็นวัคซีน และความสำเร็จเหล่านี้อยู่ภายในความร่วมมือของ สวทช.
วันนี้เป็นความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการผลิตวัคซีนมาใช้ในสัตว์ตัวเล็ก คือ หนู แต่หลังจากนี้จะเป็นการทดลองกับสัตว์ตัวใหญ่ และในอนาคตก็จะเป็นคน ตรงนี้จะต้องใช้ระยะเวลานาน เป็นเหตุผลที่เราต้องการผู้เชี่ยวชาญโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ซึ่งจะทำให้การวิจัยและพัฒนาไปจนถึงขั้นการผลิตวัคซีนอย่างจริงจังในอนาคต แต่เรื่องการวิจัยและพัฒนาอาจจะใช้เวลา 3 ปี จึงจะเห็นการทดลองในคนได้ แต่ว่าอาจจะใช้เวลา 4-5 ปีก็ได้ อย่างที่นักวิจัยได้พูดไปแล้วว่าที่ยาก เนื่องจากไข้เลือดออกมีไวรัสอยู่ 4 สายพันธุ์ เราจะต้องคัดเลือกเชื้อไวรัสที่สามารถป้องกันได้ในแต่ละสายพันธุ์ และนำทั้ง 4 สายพันธุ์นี้มาผสมกันกลายเป็นวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องยากของการทำวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้
![]() |
![]() |
![]() |
ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต แม้จะยังไปได้ไม่เร็วเท่าอัตราของประเทศผู้นำด้านนี้ แต่งงานวิจัยของไทยหลายอย่างก็ช่วยให้เราสามารถติดตามความก้าวหน้าต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของ สวทช. เองยังมองว่างานวิจัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยืน ในส่วนตัวอยากเห็นการลงทุนด้านนี้แม้ว่าจะต้องใช้เวลา ความอดทนสูงและรอจังหวะที่จะนำศักยภาพผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งบทบาททิศทางการดำเนินงานของ สวทช. ในปัจจุบันและอนาคตจะเน้นทั้งบทบาทวิจัยผลิตองค์ความรู้ใหม่และพัฒนาความรู้ที่ได้ไปสร้างเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยจะรักษาสมดุลระหว่างการวิจัยและพัฒนานี้ไปด้วยกัน
![]() |
![]() |
![]() |
ด้าน นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย กล่าวว่า บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย เป็นบริษัทของคนไทยบริษัทแรกที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับวัคซีนข้ามชาติ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2001 โดยเริ่มกิจการด้วยการซื้อวัคซีนแบบเบราซ์ จากประเทศหนึ่งและนำไปจำหน่ายยังอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก จากการที่มีตลาดต่างประเทศเป็นหลักทำให้ทราบว่า ตลาดต่างประเทศต้องการวัคซีนตัวใหม่ ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อปี ค.ศ. 2004 บริษัทฯ ได้สร้างศูนย์วิจัยวัคซีนต้นแบบแห่งแรก ที่ประเทศอาฟริกาใต้ เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอับเสบ ค.ศ. 2007 ได้สร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนต้นแบบ แห่งแรกในประเทศไทยที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.อยุธยา โดยมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 17 ไร่ เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ชนิดไม่ใช่เซลล์โดยวิธีพันธุวิศวกรรม
สำหรับวัคซีนไข้เลือดออก หรือเด็งกี่ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามมานาน เพราะโรคนี้สร้างความเสียหายให้กับโลกนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน และปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีน ถึงแม้ว่าจะมีหลายกลุ่มพยายามผลิตวัคซีนขึ้นมา หลังจากบริษัทฯ ทราบว่า สวทช. ได้สนับสนุนการวิจัยโรคไข้เลือดออกกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนำทีมโดย รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ และคณะ ทำให้บริษัทฯ สนใจที่จะนำโครงการนี้มาพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และสายพันธุ์โรคไข้เลือดออกที่พัฒนาโดยคณะของอาจารย์นพพร นี้ ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ดีอีกสายพันธุ์หนึ่ง แต่คงจะต้องใช้ระยะเวลาในการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนทำการทดลองในขั้นคลินิกอีกระยะหนึ่งกว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายได้
![]() |
![]() |
![]() |
โรคไข้เลือดออก เริ่มอุบัติขึ้นมาในโลก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นได้แพร่กระจายไปทั่วแถบภูมิภาคเขตร้อน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค และเมื่อปี พ.ศ. 2501 ได้ระบาดเข้ามายังประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2515 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย ในปี 2553 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยจำนวนกว่าหนึ่งแสนราย และเฉพาะเดือนมกราคมของปี 2554 มีผู้ป่วยแล้วประมาณ 1,200 ราย ซึ่งแนวโน้มการระบาดหรืออุบัติการณ์ของโรคน่าจะสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากโรคนี้มีแหล่งระบาดอยู่ในเมือง ซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นตามลำดับ การคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นทำให้เชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ แพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งสถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจทำให้ยุงมีจำนวนมากขึ้นในหลาย ๆ แห่ง
โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งมีถึง 4 ชนิด เมื่อคนติดเชื้อไวรัสชนิดใดจะสามารถปกป้องไวรัสเฉพาะชนิดนั้นได้ตลอดชีวิต แต่ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อซ้ำโดยไวรัสเด็งกี่ชนิดอื่น และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดนี้ อาจทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย ข้อเท็จจริงดังก่าวทำให้การพัฒนาวัคซีนป้องกันเด็งกี่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งนอกจากต้องสร้างวัคซีนให้ครบทุกชนิดแล้ว ยังต้องทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนมีระดับที่ใกล้เคียงกันด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมขณะนี้ จึงยังไม่มีวัคซีนไข้เลือดออกใช้กัน แม้ว่าทั่วโลกจะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนมาแล้วกว่า 30 ปี
![]() |
![]() |
![]() |
ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร โทร. 0-2333-3700 ต่อ 3728
โทรสาร 02-333-3833 E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ภาพถ่ายโดย : นายชัชวาลย์ โบสุวรรณ