กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน กระทรวงวิทย์/เอ็มเทค สวทช. มอบเสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงแก่แม่ทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก เพื่อภาระกิจป

กระทรวงวิทย์/เอ็มเทค สวทช. มอบเสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงแก่แม่ทัพภาคที่ 3 จ.พิษณุโลก เพื่อภาระกิจป

พิมพ์ PDF

 

         ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานในพิธีมอบเสื้อเกราะป้องกันกระสุนแบบแข็ง ที่เกิดจากงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.)  ให้แก่ พลโท วรรณทิพย์  ว่องไว  แม่ทัพภาคที่ 3 จำนวน 47 ตัว เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง และร่วมปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างหนักช่วงนี้

 

         ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยรักษาชีวิตของพี่น้องทหารหาญของเราในการปราบปรามยาเสพติดโดยเฉพาะทางกองทัพภาคที่ 3  เรื่องการพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนแบบแข็งนี้  เราได้ทำมาระยะหนึ่งแล้ว เราได้ทำการวิจัยและพัฒนาโดยรุ่นที่หนึ่งได้ส่งมอบไปแล้ว  โดยเรานำไปมอบทั้งทหารตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  และหลังจากนั้นเราก็ได้ทำการปรับปรุงพัฒนาจนเกิดวันนี้ขึ้นมาที่เรานำมาส่งมอบกองทัพภาคที่ 3 วันนี้ถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 เทคโนโลยีหลักที่นำมาใช้ในการผลิตคือเซรามิกส์อลูมินา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเสื้อเกราะนี้  มีน้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม  แต่เราต้องใช้หน้าและหลังก็จะมีน้ำหนักรวมกัน 8 กิโลกรัม หนาประมาณ 4 ซ.ม.  สามารถที่จะรับภัยคลุกครามได้ถึงระดับ 3A เช่นปืน M16  รุ่นที่ 2 ที่นำมามอบที่นี่  เนื่องจากเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด และถ้าเราติดตามข่าวจะทราบว่าทางกองทัพภาคที่ 3 มีบทบาทค่อนข้างสำคัญ  เนื่องจากมีพื้นที่ชายแดนยาวกว่า 2000 กิโลเมตร ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นแหล่งขนถ่ายยาเสพติดที่สำคัญ เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราจึงนำเสื้อเกราะมามอบให้กองทัพภาคที่ 3 เสื้อเกราะตัวนี้มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง และราคาต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ 
         นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีภารกิจที่จะส่งเสริมการทำวิจัยในเรื่องเหล่านี้อีกหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เครื่องจำหน้าบุคคล และเครื่องแปลภาษามลายูหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ

  

 


         ด้าน ดร.วีระศักดิ์  อุดมกิจเดชา  ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) กล่าวว่า ส่วนประกอบแผ่นเกราะกันกระสุน ประกอบด้วย แผ่นกระจายแรง และแผ่นดูดซับแรง  ซึ่งแผ่นกระจายแรงทำจากเซรามิกส์ชนิดอลูมินานำมาหุ้มประกอบกับโลหะอะลูมิเนียมและเส้นใยเคฟลาร์ความหนาแน่นสูง  ทำหน้าที่ดูดซับแรงและช่วยเก็บสะเก็ดไม่ให้เป็นอันตราย โดยแผ่นเกราะแข็งมีลักษณะเป็นแผ่นโค้งที่ออกแบบให้รองรับกับสรีระของคนไทย  ซึ่งแผ่นกระจายแรงที่อยู่ด้านนอกจะทำหน้าที่ทำลายหัวกระสุน  ด้วยคุณสมบัติของวัสดุเซรามิกส์ที่เบาและแข็ง  สามารถทำลายหัวกระสุนที่มีความเร็วสูงให้แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ และความแข็งช่วยให้กระจายแรงได้ดี  ทั้งนี้ เสื้อเกราะกันกระสุนคุณภาพสูงดังกล่าว มีน้ำหนักเพียง 8 กิโลกรัม มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า เพราะสามารถทนต่อความชื่นและแสงแดดได้ดีกว่า  เสื้อเกราะที่นำเข้าจากต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าเกือบเท่าตัว  นอกจากนี้ เสื้อเกราะกันกระสุนดังกล่าว ผ่านการทดสอบคุณภาพจากกองพลาธิการและสรรพาวุธ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  แล้วว่ามีประสิทธิภาพการป้องกันภัยของเกราะบุคคลในระดับ 3A (ยิงด้วยกระสุน .44 แม็คนั่ม และ M855) และมีประสิทธิภาพในระดับ 3 (ยิงด้วยกระสุน 7.62) เมื่อใช้ร่วมกับเสื้อเกราะอ่อน 3A ตามมาตรฐาน NU (National Institute of Justice) ของสหรัฐอเมริกา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  นอกจากนี้ เอ็มเทคยังมีโครงการวิจัยอื่นที่มีการต่อยอดจากโครงการดังกล่าว เพื่อเลือกใช้วัสดุเซรามิกส์ที่เบากว่า แต่มีความแข็งแรงเท่ากับอลูมินา เพื่อนำไปทำเป็นเกราะสำหรับงานประเภทอื่นนอกเหนือจากเสื้อเกราะป้องกันกระสุน
 

 



ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โทร. 02 333 3700 ต่อ 3728      
 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป