กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) และ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดกิจกรรม “ค่ายคุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร ครั้งที่ 1” ในวันที่ 7-8 มกราคม 2554 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานพิธีเปิด ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ หัวข้อ “เปิดโลกวิทยาศาสตร์กับแสงซินโครตรอน” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง และ ดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์ หัวหน้าส่วนงานบริการผู้ใช้ สซ. และ หัวข้อ “วว. กับการอนุรักษ์แหล่งสงวนชีวมณฑล” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. และอาจารย์สมัย เสวครบุรี หัวหน้าฝ่ายวิชาการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. พร้อมชมมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินอคาเดมี่แฟนตาเซีย น้องพริ้ง AF5 มาให้ความรู้และความบันเทิง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 140 คน
นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 5 ของการดำเนินการ โดยกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการในส่วนกลาง เน้นกลุ่มเป้าหมาย นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในรูปแบบของการเสวนา ระหว่างนักวิชาการ ในแต่ละด้านมาถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เรื่องเล่าที่น่าสนใจ เพื่อเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชน อีกทั้งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ขับเคลื่อนนโยบายโดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับการจัดกิจกรรม ค่าย คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่จัดในส่วนภูมิภาค การจัดกิจกรรมค่าย คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ครั้งนี้ เน้นให้ความรู้ ความเข้าใจต่อสภาวะแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงจากผู้คนในสังคม เป็นวงกว้าง เนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสภาพทางภูมิศาสตร์ของโลกเป็นอย่างมาก รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่นับวันก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที ดังนั้น จึงเริ่มมีการตระหนักถึงความสำคัญของการรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะการปลูกฝังถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์ธรรมชาติกับเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ร่วมปกป้องโลกต่อไปในอนาคต ทั้งนี้การจัดกิจกรรม ค่าย “คุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร” กำหนดจัด 2 วัน คือระหว่างวันที่ 7- 8 มกราคม 2554 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมได้แก่ นักเรียนจากโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ จำนวน 30 คน และผู้ที่สมัครจากทางอินเทอร์เน็ตอีกจำนวน 40 คน พร้อมอาจารย์ ผู้ปกครอง และสื่อมวลชน รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทั้งหมด 140 คน ซึ่งมีกิจกรรมหลักประกอบด้วย
1. กิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ หัวข้อ “เปิดโลกวิทยาศาสตร์กับแสงซินโครตรอน” และเยี่ยมชมงานระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
2. กิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ หัวข้อ “วว. กับการอนุรักษ์แหล่งสงวนชีวมณฑล”
3. การศึกษาระบบนิเวศป่าสะแกราช ศึกษาแมลงกลางคืน ส่องกล้องดูดวงดาว
และดวงจันทร์ เดินชมป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ส่องกล้องดูนก-ดูไก่ ในช่วงเช้าและเย็น
4. กิจกรรมบันเทิงจากศิลปินค่ายอคาเดมี่แฟนตาเซีย น้องพริ้ง AF 5 ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ดังนั้น เด็ก เยาวชน นักเรียน และนักศึกษา ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขณะเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็มีพันธกิจสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปสู่เด็ก เยาวชน โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยเน้นรูปแบบของกิจกรรมที่มีความสนุกสนานและสามารถกระตุ้นความสนใจเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย ซึ่งกิจกรรมค่ายคุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถตอบสนองเป้าหมายและพันธกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
“โดยสิ่งที่เด็กและเยาวชนจะได้รับจากการเข้าร่วมค่ายคุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร ในครั้งนี้ มีทั้งสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจ ทางด้านร่างกายก็คือการได้ออกกำลังกายจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ทางค่ายคุยกัน..ฉันท์วิทย์ สัญจร จัดขึ้น ทั้งการเดินป่า การส่องกล้องดูดวงดาว การดูนกยามเช้า และการศึกษาแมลง ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น ส่วนทางด้านจิตใจผลที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับก็คือ เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ในหมู่คณะ การรู้จักทำงานเป็นทีม ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน รู้จักอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้จักการเสียสละ การได้มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ เรียนรู้วิถีการดำรงอยู่ของสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมโลกต่างสายพันธุ์ การได้ซึมซับและเห็นความสำคัญของธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กและเยาวชน เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการร่วมปกป้องโลกต่อไปในอนาคต”
.jpg) |
รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ดำเนินการพัฒนาและติดตั้งเครื่องกำเนิดแสงสยาม ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทำการผลิตและให้บริการแสงซินโครตรอนแก่นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์หลายสาขา ร่วมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีซินโครตรอนซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงแก่ภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้ สถาบันฯ ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สัมผัสและเรียนรู้เทคโนโลยีซินโครตรอนภายในห้องปฏิบัติการแสงสยามอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่กระบวนการผลิตแสง การนำแสงซินโครตรอนมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยในหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรม เกษตร สิ่งแวดล้อม และการแพทย์ เป็นต้น ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำงานในห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงนี้
.jpg) |
ในส่วนของการเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ หัวข้อ “เปิดโลกวิทยาศาสตร์กับแสงซินโครตรอน” โดย ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแสงซินโครตรอน โดยกล่าวว่า แสงมีทั้งที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น แสงแดด แสงไฟนีออน แสงเทียน และแสงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น คลื่นวิทยุ แสงอินฟราเรด ไมโครเวฟ และรังสีเอ็กซ์ เป็นต้น ซึ่งแสงต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกัน เราได้นำแสงเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้ในการรับส่งสัญญาณวิทยุ โทรศัพท์ ใช้ในรีโมทเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ เครื่องไมโครเวฟ หรือนำรังสีเอ็กซ์มาใช้ในการถ่ายภาพอวัยวะภายในของร่างกาย แสงที่เราคุ้นเคยนี้มีลำแสงขนาดใหญ่ และความสว่างของแสงไม่สูงมากนัก
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) สามารถผลิตแสงที่มีขนาดลำแสงเล็กมากๆ และมีความเข้มแสงมากได้ โดยการเร่งอิเล็กตรอนในแนวเคลื่อนที่เป็นวงกลม เพื่อให้อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้ความเร็วแสง และบังคับให้เลี้ยวโค้ง อิเล็กตรอนจะปล่อยแสงออกมาในช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่อินฟราเรด จนถึงรังสีเอ็กซ์ โดยที่แสงนั้นจะมีความสว่างกว่าแสงของดวงอาทิตย์ถึง 10,000 เท่า
.jpg) |
ด้าน ดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์ หัวหน้าส่วนงานบริการผู้ใช้ กล่าวว่า เนื่องจากลำแสงซินโครตรอนมีความเล็กและความสว่างของแสงสูงมากทำให้สามารถนำไปวิเคราะห์วัตถุหรืออนุภาคเล็ก ระดับนาโนเมตร หรือ 1 ใน 40,000 เท่าของความบางของเส้นผมคนได้ เช่นตรวจสอบคุณสมบัติของผลึกขนาดนาโนในการผลิตและออกแบบแว่นตานาโนคริสตัล ใช้ตรวจสอบแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบหลักของสารอาหารที่อยู่ในข้าว หรือ วิเคราะห์สารพิษในวัตถุว่าเป็นพิษชนิดใด หรือ ใช้วิเคราะห์สารเคมีที่อยู่ในวัตถุโบราณ เพื่อให้ทราบว่าเป็นวัตถุโบราณในยุคใด และยังครอบคลุมงานวิเคราะห์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ทางการแพทย์ สิ่งแวดลอม ตรวจพิสูจน์หลักฐาน เป็นต้น นอกจากนั้นแสงซินโครตรอนยังสามารถผลิตชิ้นงานที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ เช่น สร้างฟันเฟืองจุลภาค ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 380 ไมโครเมตร และที่สำคัญ ทางสถาบันได้ผลิตตราสัญลักษณ์ฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยจัดทำเป็นตราสัญลักษณ์ขนาดจิ๋วที่เป็นโครงสร้างจุลภาค 3 มิติ ขนาด 2.8 x 4.5 มิลลิเมตร ทำด้วยโลหะนิกเกิล มีลายเส้นที่เล็กที่สุด เพียง 15 ไมโครเมตร ถือเป็นตราสัญลักษณ์ฉลองครองราชย์ฯ ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก
 |
นายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช กล่าวในการเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ หัวข้อ “วว. กับการอนุรักษ์แหล่งสงวนชีวมณฑล” ถึงความสำคัญของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชว่า สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชเป็นสถานีวิจัยภูมิภาคของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยพื้นป่ากว่า 50,000 ไร่ ซึ่งนับว่าเป็นป่าต้นแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือประกอบด้วยผืนป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2519 และเป็น 1 ใน 529 แห่งของโลก จาก 105 ประเทศทั่วโลก โดยป่าสะแกราชถือเป็นแหล่งทรัพยากรสัตว์ป่าและป่าไม้ที่สำคัญและมีคุณค่าแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ หลายชนิดเป็นสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ หลายชนิดเป็นสัตว์ป่าเฉพาะถิ่น จากการสำรวจพบว่าในป่าสะแกราชมีสัตว์ป่าถึง 385 ชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลี้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในจำนวนนี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึง 68 ชนิด มีทั้งสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กวาง เก้ง กระทิง และหมี เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่พบชุกชุม ได้แก่ กระรอกหลากสี กระต่ายป่า หมูป่า หนูท้องขาว อ้นเล็ก หรือสัตว์หายาก เช่น พญากระรอกดำ กระรอกบินเท้าขน เม่นหางพวง หมีหมา กระทิง กวางป่า หมีควาย รวมถึงสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ได้แก่ แมวป่า เสือโคร่ง และเมื่อเดือนธันวาคม 2551 และมกราคม 2552 สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สามารถจับภาพหมีควายและเลียงผาได้ด้วยกล้อง Camera Trap ซึ่งเป็นภาพของสัตว์ป่าหายากของประเทศไทย
.jpg) |
 |
“ทั้งนี้ จากการที่พบสัตว์ทั้งสองชนิดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสถานีฯ มีนโยบายรักษาผืนป่าสะแกราชให้คงความเป็นธรรมชาติ เพื่อเป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน เป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติสำหรับนักเรียน นักศึกษา เป็นสถานที่เพื่อการศึกษาและวิจัยธรรมชาติของป่าไม้ ตลอดจนสถานีฯ ยังมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้คนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล จึงทำให้ยังคงรักษาสภาพแวดล้อมของผืนป่าได้สมบูรณ์เช่นทุกวันนี้”
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากสถานีฯ จะเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน (ป่าดิบแล้วและป่าเต็งรัง) ของนักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงนักศึกษา โดยมีงานวิจัยในพื้นที่แห่งนี้ไม่น้อยว่า 200 เรื่อง ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาแก่นักวิชาการและยังได้นำไปช่วยเหลือในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติอีกด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบัน สถานีฯ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกแห่งหนึ่งของประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากมีแหล่งธรรมชาติของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังที่สมบูรณ์อุดมด้วยพรรณพืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด มีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ในการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติ การพึ่งพาอาศัยได้ประโยชน์ร่วมกัน ความสมดุลของธรรมชาติของคนในท้องถิ่น โดยสถานีฯ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในการเข้าชม เพื่อรักษาความสมบูรณ์และความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวให้คงอยู่สืบไป จนได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ดีเด่น ประจำปี 2549 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อีกด้วย
.jpg) |
.jpg) |
ขณะที่อาจารย์สมัย เสวครบุรี หัวหน้าฝ่ายวิชาการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งสงวนชีวมณฑลว่า ทางสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ได้ดำเนินการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพภายในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ภายใต้กรอบแนวความคิด การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในเขตสงวนชีวมณฑลสะแกราช โดยมีแนวทางในการดำเนินงานคือ การส่งเสริม สนับสนุน การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การสร้างและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์กับเด็กและเยาวชน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนบริเวณรอบพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วก็คือการนำพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ไปให้ชุมชนดำเนินการเพาะปลูก เช่น ผักหวานป่า มะขามป้อม คอแลน และ มะเม่า เป็นต้น เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้า เศรษฐกิจ โดยการนำมาแปรรูปเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ และเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ซึ่งเมื่อมีการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ แล้ว ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณการเก็บเกี่ยวพืชผลจากป่าได้เป็นอย่างดี
.jpg) |
.jpg) |
“นอกจากนี้ ทางสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชยังมีพันธกิจที่สำคัญคือสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาทำงานวิจัยในพื้นที่ ทั้งการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูล อุปกรณ์ต่างๆ และการส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมในการวิจัย ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้และผลที่ได้จากการวิจัยให้กับชุมชนโดยรอบ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป รวมถึงการเปิดสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติกับบุคคลทั่วไป พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าค่ายร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ เพื่อให้เด็กๆ รู้คุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและการอนุรักษ์ป่าให้ดำรงอยู่ไปจนชัวลูกชั่วหลาน เพราะป่าที่เรามีอยู่ก็เปรียบเสมือนธนาคารขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งรวมของพันธุกรรมพืชและสัตว์หลากหลายชนิด เป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งอาหารที่เราต้องใช้ประโยชน์อยู่ทุกวัน ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้หมดไป ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนและนำกลับคืนมาได้ และสิ่งสำคัญก็คือถ้าแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสูญสลายไป ท้ายที่สุดมนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้”
ท่านสามารถติดตามข่าวสาร การจัดกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ http://www.most.go.th/scitalk
สนับสนุนข้อมูลโดย : สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.)
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ผู้เขียนข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์
เผยแพร่โดย : ศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โทร. 0 2333 3700 ต่อ 3732, 3730