(29 เมษายน 2552) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดย ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โดย พล.ต.ท. เกรียงศักดิ์ สุริโย ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ณ ห้องประชุม 517 อาคารจุลละพราหมณ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในทุก ๆ ด้านอย่างเร่งด่วน กระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงด้วยวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี และในวันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย เนคเทค/สวทช. ได้นำผลงานจากการวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยคนไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านความมั่นคงของประเทศให้กับ ตชด. ซึ่งจะได้นำไปใช้ในการป้องกันอธิปไตย และรักษาความมั่นคงของชาติ ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่เสี่ยงอันตรายได้เป็นอย่างดี
ด้าน พล.ต.ท. เกรียงศักดิ์ สุริโย ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวเสริมว่า สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวิวัฒนาการในการก่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้มีการสูญเสียชีวิตทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ รวมถึงทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก โดยเทคโนโลยีที่ผู้ก่อการร้ายใช้ในการก่อความรุนแรงนั้น เป็นวัสดุต้นทุนต่ำ ที่หาได้จากในพื้นที่ เช่น โทรศัพท์มือถือ ปุ๋ยเคมี แต่เทคโนโลยีที่หน่วยงานราชการจำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกัน กลับมีราคาที่สูงมาก เนื่องจากต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ นอกจากนี้ในการซ่อมแซมยังต้องรอวัสดุอะไหล่จากประเทศผู้ผลิตอีกด้วย การที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย เนคเทค/สวทช. ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันและต่อต้านการก่อความไม่สงบ ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าหรือดีกว่าของต่างประเทศในราคาที่เหมาะสม ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณ อีกทั้งยังช่วยเหลือในการรักษาชีวิตของประชาชน และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ และทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้มีความมั่นใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น อันส่งผลต่อขวัญ กำลังใจ ซึ่งถือเป็นอำนาจกำลังรบอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการป้องกันอธิปไตย รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมสำคัญที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง เช่น การลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในประเทศ การโจรกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ออกนอกประเทศ การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง การนำเข้าสินค้าหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในบริเวณชายแดน หากใช้เฉพาะกำลังเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันปราบ ปรามได้ การที่มีเทคโนโลยีในการเฝ้าระวัง ตามแนวชายแดนจะเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติและความสงบสุขของประชาชนบริเวณแนวชายแดน และที่สำคัญการเสริมทักษะด้านการสื่อสารด้วยภาษาถิ่นให้กับ ตชด. จะทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สื่อสารและเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ลดปัญหาช่องว่างระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กับ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน จนทำให้สามารถทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์และเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษา ความมั่นคงของชาติ ตลอดจนการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณแนวชายแดน โดยมีกรอบความร่วมมือสำคัญ ๆ ดังนี้
1. โครงการความร่วมมืออบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาสื่อการ เรียนการสอนออนไลน์ด้วยระบบ Learn Square (สิงหาคม 2550) เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นฐานบุคลากรของตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำหน้าที่ครูฝึก ให้มีขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตสื่อสำหรับการจัดการฝึกอบรมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
2. โครงการทดสอบประสิทธิภาพระบบตามรอยวัตถุ (System for Wireless Object Tracking : SWOT พฤษภาคม 2551) ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุปกรณ์การตรวจจับความเคลื่อน ไหว ความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือบุคคล สามารถนำมาใช้ประโยชน์สำหรับภารกิจของตำรวจตระเวนชายแดนทั้งในภารกิจสกัด กั้นการลำเลียงยาเสพติด การป้องกันการหลบหนีเข้าเมือง ตลอดจนการลักลอบนำรถยนต์ออกนอกประเทศ และการป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยของกองกำลังติดอาวุธในบริเวณแนวชายแดน
3. โครงการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (T-Box มีนาคม 2552) ซึ่งเป็นผลงานที่นักวิจัยของเนคเทค คือ ดร. โกเมน พิบูลย์โรจน์ และ ดร. ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ได้ทำการวิจัยสำเร็จได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเยี่ยม ประจำปี 2552 จากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จากผลงานวิจัยนี้ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์ เคลื่อนที่ที่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าต่างประเทศ ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหลายเท่าตัว ขณะนี้เนคเทคได้มอบเครื่องรบกวนสัญญาณฯ ให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนไปทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมาก ยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และความปลอดภัยของ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนมัลติมีเดียภาษามลายูถิ่น โครงการนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในช่วงการติดตั้งระบบที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โครงการนี้จะมีประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานในการติดต่อสื่อสารระหว่างตำรวจ ตระเวนชายแดนกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะพัฒนาการเรียนภาษามลายูถิ่นในระยะยาวให้แก่ทั้งตำรวจตระเวนชายแดนและ หน่วยราชการ ตลอดจนผู้สนใจที่จะทำการศึกษาภาษามลายูถิ่นในระยะยาวด้วย
5. โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนมัลติมีเดียภาษากะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกัน หากโครงการแล้วเสร็จเชื่อว่าทั้งตำรวจตระเวนชายแดนและหน่วยราชการอื่น ๆ รวมทั้งผู้สนใจจะสามารถศึกษาเรียนรู้ภาษาชาวเขาได้มากขึ้น
และในอนาคตทั้ง 2 หน่วยงานจะยึดถือข้อตกลงร่วมนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันในโครงการ อื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานของตำรวจตระเวนชายแดนและเสริมสร้าง ความผาสุกให้แก่ประชาชนในบริเวณชายแดนต่อไป