เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ณ บ้านใคร่นุ่น ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ดร.วีรชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้ นายคมจิต ลุสวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : หมู่บ้านหอยเชอร์รี่” โดยมีนายสุนทรี บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายอำเภอกันทรวิชัย นายกเทศมนตรีตำบลท่าขอนยาง และประชาชนชาวท่าขอนยางให้การต้อนรับ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
พิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้นี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “หมู่บ้านหอยเชอร์รี่” การดำเนินโครงการหมู่บ้านหอยเชอร์รี่ เกิดจากปัญหาของเกษตรกรที่ปลูกข้าวประสบปัญหากับหอยเชอร์รี่กัดกินผลผลิตในนาข้าวจนได้รับความเสียหาย เกษตรกรแก้ไขปัญหาหอยเชอร์รี่ด้วยการนำเนื้อหอยเชอร์รี่มาบริโภคและทำเป็นปุ๋ยหมัก แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเนื่องจากมีเปลือกหอยเชอร์รี่เป็นขยะส่งกลิ่นเหม็นและทิ้งเป็นขยะชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคามเล็งเห็นว่า ปัญหาหอยเชอร์รี่ระบาด เป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำปัญหาดังกล่าวมาดำเนินการวิจัยและพัฒนาจนครบวงจร ดังนี้
1. นำเนื้อหอยเชอร์รี่มาทำปุ๋ยหมักชีวภาพและอาหารสัตว์
2. นำเปลือกหอยเชอร์รี่เป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับอิฐบล็อกประสาน
3. การทำเซรามิกจากเปลือกหอยเชอร์รี่
4. การพัฒนาครีมกันแดดจากเปลือกหอยเชอร์รี่
จากนั้น นายคมจิต ลุสวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมกลุ่มจักรสานเครื่องหวายและผักตบชวา ที่บ้านวังไผ่ ตำบลลาดพัฒนา เพื่อศึกษาเรื่องการนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์ และบ้านดงดวน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เพื่อศึกษาเรื่องการย้อมสีผ้าไหมด้วยสีผงที่ได้วัตถุจากธรรมชาติ เช่น ครั่ง ขมิ้น และดอกดาวเรือง เป็นต้น ซึ่งในพื้นที่นี้ชาวบ้านได้รวมตัวกันเพื่อใช้วัสดุธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว