![]() |
![]() |
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงานแถลงข่าว “โครงการวิศวกรรมย้อนรอยกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย” (เนื่องในกิจกรรมนัดพบผู้ประกอบการ BUSINESS MATCHING) เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ผลสำเร็จของการทำโครงการวิสวกรรมย้อนรอย ตลอดจนจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” ในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2553 (TechnoMart InnoMart 2010) ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม 2553 ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2553
![]() |
![]() |
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” แล้ว วัตถุประสงค์สำคัญอีกประการคือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ นักพัฒนาของไทยได้มีพื้นที่ในการนำผลงานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจและการพัฒนาประเทศ มาจัดแสดง โดยมุ่งหวังให้เกิดการเยี่ยมชม แลกเปลี่ยน เจรจาซื้อ-ขายเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทยด้วยกันเอง เพื่อให้เกิดแนวคิดที่ว่า ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ
การนัดพบผู้ประกอบการ ถือเป็นกิจกรรมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งใจจัดขึ้นภายในงานเป็นครั้งแรก ด้วยพิจารณาเห็นว่าผู้ประกอบการคือ กลุ่มเป้าหมายหลักของงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากสมาคมเครื่องจักรกลไทยซึ่งมีบริษัทคนไทยเป็นสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมาก และในปีนี้สมาคมฯ ได้นำผลงานเครื่องจักรกลมาจัดแสดงกว่า 100 ชิ้นงาน อีกทั้งยังมีผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนอื่นๆ อีกกว่า 300 ผลงาน ซึ่งท่านสามารถเลือกชมและแสดงความสนใจซื้อ-ขาย หรือพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ โดยจัดพื้นที่สำหรับการเจรจาธุรกิจในบริเวณงาน จำนวน 2 จุด ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม 2553
![]() |
![]() |
สำหรับผลงานเครื่องจักร/อุปกรณ์ บางส่วนที่นำมาจัดแสดงในพื้นที่สมาคมเครื่องจักรกลไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลสำเร็จจากการส่งเสริมการพัฒนาสร้างเครื่องจักรภายใต้โครงการวิศวกรรมย้อนรอย ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้การสนับสนุนสมาคมฯ องค์กร สถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมดำเนินการ จึงใคร่ถือโอกาสแถลงผลงานโครงการฯ ดังกล่าวต่อสื่อมวลชนได้รับทราบ และช่วยเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานจากโครงการฯ เพื่อให้คนไทยเห็นความสำคัญและมีความเชื่อมั่นในเครื่องจักรกลที่พัฒนาโดยคนไทยให้มากยิ่งขึ้น
ดร.พสุ โลหารชุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นโยบายภาครัฐกับการสนับสนุนวิศวกรรมย้อนรอย ในปัจจุบันการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศมากถึง 600,000 ล้านบาท โครงการวิศวกรรมย้อนรอยจะประสบผล เราต้องใช้เครื่องจักรที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านเกษตร และการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้เกิดการขยายตัว และผู้ประกอบการเลือกใช้เครื่องจักรภายในประเทศแทนการนำเข้าเพิ่มขึ้น
![]() |
![]() |
นางนิตยา พัฒนรัชต์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำโครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักรในกระบวนการผลิตด้วยวิศวกรรมย้อนรอย เพื่อพัฒนาสร้างเครื่องจักรที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตภายในประเทศตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยการผลิตด้วยกระบวนการเรียนรู้จากองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วอย่างเป็นระบบแล้วพัฒนาให้ดีกว่าเดิมทั้งในด้านคุณภาพและราคา การดำเนินงานในรูปแบบการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายของโครงการระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบตามความต้องการของผู้ใช้และสอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ของชาติโดยเครื่องจักรที่พัฒนาได้นี้สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ทำให้สามารถลดการนำเข้าและประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่อไป
นายณรงค์ สกุลศิริรัตน์ อุปนายกสมาคมเครื่องจักรกลไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นำเครื่องจักรกลมาต่อยอด เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม โครงการแรกที่ริเริ่มคือ สร้างเครื่องจักรกลพื้นฐาน ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลแปรรูปอาหารและพลังงาน และเครื่องจักรกลบรรจุภัณฑ์ เราดูว่าประเทศอื่นเขาทำอะไร แล้วนำมาต่อยอดพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
เขียนข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ภาพข่าวโดย : นายชัชวาลย์ โบสุวรรณ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร 0 2333 3732