เมื่อวันที่ 13 -15 กันยายน 2553 นายคมจิต ลุสวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานกรรมการจัดทำข้อเสนอโครงการควบคุมและกำจัดผักตบชวาแบบครบวงจร บริเวณแม่น้ำท่าจีน พร้อมด้วย นางนันทวรรณ ชื่นศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนบริเวณจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี และนครปฐม เพื่อทำความเข้าใจกับจังหวัดและชุมชนในพื้นที่ ในการติดตั้งเครื่องเก็บผักตบชวาระบบโซ่พาลำเลียงแบบติดตั้งริมฝั่งจำนวน 8 ชุด ตามลำน้ำท่าจีน
โอกาสนี้ นายคมจิต ลุสวัสดิ์ ได้ชี้แจงให้ชุมชนในพื้นที่ทราบถึงแนวนโยบายของ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนาของกระทรวงฯ ไปสู่การปฏิบัติจริงและเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งโครงการควบคุมและกำจัดผักตบชวาแบบครบวงจรทั้งลุ่มแม่น้ำท่าจีนนี้ จะนำผลการพัฒนาเครื่องจักรและผลการวิจัยการใช้ประโยชน์จากผักตบชวาของกระทรวงฯ ไปดำเนินการตามแนวนโยบายของ รมว.วท ดังกล่าว ทั้งนี้ ทปษ.คมจิตฯ ขอให้จังหวัดร่วมกับชุมชนพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ สถานที่ติดตั้งเครื่องจักร การใช้ประโยชน์ของชุมชนจากผักตบชวาที่เก็บกองและการดูแลรักษา และการบริหารจัดการเครื่องจักรของท้องถิ่นภายหลังการดำเนินโครงการ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
ในการนี้ ผลจากการลงพื้นที่ คณะที่ปรึกษาฯ สามารถทำความตกลงกับพื้นที่ได้แล้ว จำนวน 7 จุด ได้แก่
จังหวัดชัยนาท 1 จุด บริเวณประตูน้ำท่าโบสถ์ ต.สามง่ามท่าโบสถ์ อ.หันคา
จังหวัดสุพรรณบุรี 3 จุด ได้แก่ บริเวณประตูน้ำชลมารคพิจารณ์ ต.สามชุก อ.สามชุก
บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนเหนือประตูน้ำโพธิ์พระยา อ.เมือง
และบริเวณวัดเจ้าขาว อ.บางปลาม้า
จังหวัดนครปฐม 3 จุด ได้แก่ บริเวณวัดบางไผ่นารถ ประตูน้ำพระพิมล อ.บางเลน
บริเวณวัดไร่ขิง อ.สามพราน สำหรับอีก 1 จุดนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับนักวิจัยของ วท. ในการกำหนดจุดที่เหมาะสมที่สุดและจะนำเสนอคณะกรรมการฯ โดยด่วนต่อไป
อนึ่ง คณะกรรมการจัดทำข้อเสนอโครงการควบคุมและกำจัดผักตบชวาแบบครบวงจร บริเวณแม่น้ำท่าจีน เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คำสั่งที่ 66/2553 มีนายคมจิต ลุสวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการเป็นผู้แทนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นฝ่ายเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางและจัดทำแผน/โครงการ พร้อมข้อเสนอขอรับงบประมาณโครงการ และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินโครงการ
ข้อมูลและภาพข่าวโดย : สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.)
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เผยแพร่โดย : นางสาวอุษา ขุนเปีย กลุ่มงานประชาสัมพันธ์