![]() |
![]() |
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนาและงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ “InnoBioPlast 2010 : Creating Global Market Opportunuties Through Thailand’s Bioplastics Hub” จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการผลิต การประยุกต์ใช้ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งการประชุมวิชาการด้านความก้าวหน้าและโอกาสทางด้านการตลาดของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยจากมุมมองบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกด้านการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโลกร้อนและปรากฎการณ์เรือนกระจกที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน โลกของเรามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกอย่างน้อยที่สุด 28 พันล้านตันต่อปี หลายประเทศจากทั่วโลกจึงได้หันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นทางเลือกใหม่และทดแทนการบริโภคแบบเดิม ๆ หนึ่งในทางออกสำคัญที่กลายมาเป็นตัวเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นมาจากวัสดุที่ผลิตด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็คือพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก
![]() |
![]() |
ประเทศไทยตอบรับโอกาสที่ท้าทายนี้และยกให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมีความสำคัญผ่านโปรแกรม “อุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่” เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคเอเชีย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการอนุมัติและสนับสนุนจากรัฐบาลให้ร่วมกับ สนช. ในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยให้สอดคล้องกับแผนที่นำทางแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยแผนที่นำทางฉบับนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2555 ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) กลยุทธ์การสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบชีวมวล 2) กลยุทธ์การเร่งรัดและสร้างเทคโนโลยี 3) กลยุทธ์การสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม และ 4) กลยุทธ์การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาดการว่าแผนที่นำทางแห่งชาติจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยคิดเป็นมูลค่าขั้นต่ำถึง 5.5 พันล้านบาท และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้สนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพและเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคเอเชียต่อไปในอนาคต การประชุมสัมมนานานาชาติในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงแหล่งทรัพยากรทดแทนนี้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ด้วยคุณประโยชน์ของพลาสติกชีวภาพและปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วนี้น่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยต่อไป
ด้าน ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานประชุมสัมมนาและงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ ““InnoBioPlast 2010 : Creating Global Market Opportunuties Through Thailand’s Bioplastics Hub” ที่จัดขึ้นนี้ เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการผลิต การประยุกต์ใช้ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ รวมถึงข้อมูลด้านการตลาด นโยบายภาครัฐ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจเทคโนโลยี และการลงทุนของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย โดย สนช. มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนใหม่บนธุรกิจฐานความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านพลาสติกชีวภาพ
![]() |
![]() |
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำจากภาคอุตสาหกรรม และภาควิจัย มากกว่า 38 ท่านจากทั่วโลก อาทิ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ และไทย ภายใต้หัวข้อที่ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นความก้าวหน้าทางด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดไปจนถึงการวิเคราะห์โอกาสทางด้านการตลาดและการลงทุน ซึ่งภายใตงานนี้มีผู้ตอบรับกว่า 400 คน จากผู้ประกอบการด้านพลาสติกชีวภาพ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย หน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับงานนิทรรศการ จะแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นิทรรศการแสดงวงจรชีวติของพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics Life Cycle) โดยแบ่งย่อยออกเป็น 10 จุด เรียงตามกระบวนการการผลิตพลาสติกชีวภาพตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำจนถึงการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ส่วนที่ 2 การมอบรางวัลผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพดีเด่น ประจำปี 2553 (Bioplastics Products Awards 2010) ซึ่งจัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ร่วมกับ สนช. เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดแนวคิดในการออกแบบและประยุกต์การใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีสไตล์ รูปแบบโมเดลใหม่ โดยเน้นการออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีความแตกต่าง รวมทั้งต้องมีการนำเทคโนโลยี วิชาการ ที่ช่วยเพิ่มประโยชน์ใช้สอย เทคโนโลยีการผลิต การเลือกใช้วัสดุ เป็นต้น สำหรับผลการประกวดผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพดีเด่น ประจำปี 2553 มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ขวดน้ำรักษ์สิ่งแวดล้อม” โดยบริษัท ไบโอ กรีน เวิล์ด จำกัด รางวัลรางชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม สำหรับข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์” โดยบริษัท แคปปิตัล เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือ เอสทีซี กรุ๊ป และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ “ซองพลาสติกชีวภาพบรรจุสารดูดความชื้น” โดยบริษัท แอ็ดวานซ์ แพคเกจจิ้ง จำกัด ส่วนที่ 3 การนำเสนอผลงานวิชาการด้านพลาสติกชีวภาพจากนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการทดสอบการย่อยสลาย และส่วนที่ 4 นิทรรศการแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากพลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น