![]() |
![]() |
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดห้องปฏิบัติการศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา นิคมอุตสาหกรรม บางปู โชว์ศักยภาพด้านงานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าแข่งขันในตลาดอินเตอร์
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ขณะนี้ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา (ศทม.) มีความพร้อมในการทดสอบสารต้องห้ามตามกฎระเบียบสารเคมีใหม่แห่งสหภาพยุโรป (Registration, Evaluation, Authorisation and Restriction of Chemical หรือ REACH) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศผู้ใช้สารเคมีในห่วงโซ่อุปทาน สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบจะถูกส่งไปขายในประเทศต่างๆ ต้องถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ REACH กำหนดให้ผู้ผลิตสารเคมีและสารเคมีผสม จัดเตรียมเอกสารตามระเบียบ Classification,Labelling and Packaging (CLP) เป็นระเบียบใหม่ว่าด้วยการจัดจำแนก ปิดฉลากและบรรจุหีบห่อสารเคมี ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2553 นี้ รวมทั้ง REACH ยังได้กำหนดการแจ้งใช้และปริมาณสารเคมีที่เป็นอันตราย (Candidate list) ซึ่งสารเคมีที่เข้าข่ายดังกล่าวขณะนี้มีจำนวน 38 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีที่ใช้ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ พลาสติก น้ำยาทำความสะอาด เครื่องประดับ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ศทม.จึงพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการ โดย สามารถทดสอบสาร Candidate list ตามกฎระเบียบของ REACH ให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนทดสอบวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมี-กายภาพของสารเคมีและสารผสม ตามกฎระเบียบ CLP และการทดสอบตามข้อกำหนดของฉลากสิ่งแวดล้อม
“...ศทม. เป็นห้องปฏิบัติการของภาครัฐที่พร้อมให้บริการทดสอบวิเคราะห์ การขอคำแนะนำที่ น่าเชื่อถือและมีความเป็นกลาง นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศออกสู่ต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพงานบริการทางวิทยาศาสตร์ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน…” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาก ผอ.ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ชี้แจงเพิ่มเติม ว่า ศทม.ยังพร้อมมีศักยภาพและความพร้อมในการให้บริการต่างๆ ได้แก่
• การทดสอบปริมาณสารตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตรตลอดจนภาชนะบรรจุอาหาร
-บริการทดสอบ สาร Bisphenol A หรือ BPA สารเคมีที่ใช้สำหรับทำให้พลาสติกแข็งตัว คงรูป และใช้ในการผลิตภาชนะกระป๋องบรรจุอาหาร เครื่องดื่ม ขวดน้ำ ขวดนมเด็ก โพลิเมอร์
-บริการทดสอบสารเมลามีน และสารในกลุ่มเมลามีน ในแหล่งที่พบการปนเปื้อนสารเมลามีน ได้แก่ นมและอาหารที่มีนมเป็นองค์ประกอบ ปลาป่น โปรตีนจากพืช เช่น corn gluten , soy bean meal, soy protein , rice bran, rice protein concentrate โปรตีนจากวุ้นเส้น รำสกัด โยเกิร์ต เครื่องดื่มกาแฟกระป๋อง คุกกี้ ช็อกโกแลต ทั้งนี้ รายการวิเคราะห์เมลามีนที่สามารถให้บริการ ได้แก่ เมลามีน(Melamine) กรดซัยยานูริก (Cyanuric acid) แอมมีไลด์ (Ammelide) แอมมีลีน (Ammeline)
-บริการทดสอบสารกำจัดแมลงและศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนคลอรีน ซึ่งสารกลุ่มดังกล่าวไม่สลายตัว ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ในน้ำมัน เป็นสารที่มีการสลายตัวช้า สะสมอยู่ตามดินและแหล่งน้ำ ดังนั้นจึงสะสมอยู่ในพืชผักผลไม้ ศทม.สามารถบริการทดสอบการปนเปื้อนสารตกค้างของสารกำจัดแมลงและศัตรูพืชในพืชผักและผลไม้
• การทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากสีเขียว (Green Label) ซึ่งเป็นฉลากที่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ศทม.ให้บริการทดสอบตามรายการที่กำหนดเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยื่นขอฉลากเขียว การทดสอบตามกฎระเบียบต่างประเทศ และการทดสอบเพื่อสนับสนุนด้านมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การทดสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำเสีย ตลอดจนให้ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับวิธีทดสอบ เป็นต้น
• การสอบเทียบเครื่องมือวัดแสง/เครื่องมือวัดเสียง
-การสอบเทียบเครื่องมือวัดแสง สามารถสอบเทียบเครื่องมือวัดความสว่างแสง (Lux Meter) ค่าความสว่างแสงที่ถูกต้องได้ตั้งแต่ 0 ลักซ์ ถึง 5000 ลักซ์ (0 ~ 5000 lx) ครอบคลุมการใช้งานในการวัดค่าความสว่างแสงตามพื้นที่ต่างๆ ตามมาตรฐานสากล International Commission on Illuminanation (CIE) ซึ่งเครื่องมือวัดความสว่างแสงที่ได้รับการสอบเทียบค่าที่ถูกต้อง จะส่งผลให้เกิดคำนวณการออกแบบระบบไฟฟ้าที่ถูกต้อง ช่วยลดการสูญเสียพลังงาน ต้นทุนค่าไฟฟ้า อีกทั้งยังช่วยการประหยัดพลังงานอีกด้วย
-การสอบเทียบเครื่องมือวัดเสียง สามารถวัดเสียงได้ตามการกำหนดคุณสมบัติของเครื่องมือที่นำมาใช้ในการวัดเสียงตามเครื่องวัดระดับเสียงตามมาตรฐานของ คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยเทคนิคไฟฟ้า (International Electrotechnical Commission, IEC)
• การวิเคราะห์สารคุณค่าอาหาร สารเติมแต่งในอาหาร ตลอดจนสารต้องห้ามในอาหาร และจัดทำฉลากทางโภชนาการ เพื่อการยื่นขอเครื่องหมาย อย.
- บริการจัดทำฉลากโภชนาการ เพื่อยื่นขอเครื่องหมาย อย. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ ซึ่งกำหนดให้อาหารต้องมีฉลากโภชนาการคือ อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ โดยจัดแสดงข้อมูลที่บังคับ คือ ข้อมูลสารอาหารที่มีความสำคัญหลักสำหรับคนไทย และข้อมูลที่ไม่บังคับ (นอกจากที่กำหนดในข้อมูลบังคับ) ก็สามารถใส่ในฉลากได้ เช่น วิตามินเกลือแร่อื่นๆ ก็สามารถใส่ในฉลากได้ แต่ต้องระบุต่อท้ายจาก เหล็ก และเรียงจากมากไปหาน้อยด้วย โดยฉลากโภชนาการจะมีประโยชน์แก่ผู้บริโภค ดังนี้ 1.สามารถเลือกซื้ออาหารและเลือกบริโภคให้เหมาะสมกับความต้องการ หรือภาวะทางโภชนาการ ของตนได้ เช่น เลือกอาหารที่ระบุว่ามีโคเลสเตอรอลต่ำ หรือ มีโซเดียมต่ำ 2.เปรียบเทียบเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน โดยเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่าได้ 3. เมื่อผู้บริโภคสนใจ ต้องการข้อมูลโภชนาการของอาหาร ผู้ผลิตก็จะแข่งขันกันผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า แทนการแข่งขันกันในเรื่องหีบห่อ สี หรือสิ่งจูงใจภายนอกอื่นๆ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 1 ถ.สุขุมวิท อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10280 โทร. 02 323 1672 – 80 โทรสาร 02 323 9165 หรือสามารถส่งชิ้นงานได้ ดังนี้
-ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. บางเขน 196 ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 02 579 1121 - 30, 02 579 5515, 02 5790160 โทรสาร 02 561 4771, 02 579 8592
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 35 หมู่ 3 เทคโนธานี ถ.เลียบคลองห้า ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทร 02 577 9000 โทรสาร 02 577 9009
- ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 700/2 หมู่ 1 ถ.บางนา-ตราด กม.ที่ 57 ต.คลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000 โทร. 038 457 098
- ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โทร. 034 490 692
- ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 49/19 หมู่ 5 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20230 โทร. 038 494 401
--------------------------------------------------