ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยี่ยมชมสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช หรือแหล่งสงวนชีวมณฑลของโลกสะแกราช เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมเยี่ยมค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ของนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา โดยมี นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. นายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้าจะพูดสั้นๆ เราต้องกลับไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราโดยตรง และเป็นเรื่องที่ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาไว้ในอนาคตก็จะก่อให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ มากมาย ซึ่งปัจจุบันเราก็เริ่มเห็นกันแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก วันนี้ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมงานของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สิ่งที่เขาทำและมีความสำคัญมีหลายเรื่อง แต่ที่เขาเน้นคือการทำค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยนำเด็กนักเรียนนักศึกษา อย่างที่เห็นวันนี้มี 2 แห่ง คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งปี 1- 4 โดยให้เด็กนักเรียนนักศึกษาเข้ามาดูเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้เห็นจริง สัมผัสจริง โครงการมีเวลา 3 วัน 2 คืน หรือ 2 วัน 1 คืน ให้เห็นของจริง โดยไม่ได้เน้นการผจญภัยหรือเดินไปดูน้ำตกสวยงาม แต่ให้เดินไปดูตามธรรมชาติและนำธรรมชาติมาอธิบาย ให้เด็กเกิดความรักความเข้าใจ ตัวอย่างเวลามองต้นไม้ให้มองว่ามันให้ประโยชน์เราอย่างไร ไม่ใช้มองต้นไม้เป็นไม้กลายเป็นโซฟา เป็นโต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องพวกนี้สำคัญ อยากสรุปกลับมาว่า มีเรื่องมากมายที่ต้องทำ ถ้าจะกลับไปยังจุดเริ่มต้น ก็ต้องจุดนี้ ด้วยการสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ แต่การจะสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็กและเยาวชน
ด้าน นายทักษิณ อาชวาคม ผู้อำนวยการสถานีฯ สะแกราช เปิดเผยว่า สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช หรือแหล่งสงวนชีวมณฑลของโลกสะแกราช ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยมีภารกิจการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา จนถึงขณะนี้มีผลงานวิจัยในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 200 เรื่อง ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2519 สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเซียในขณะนั้น
![]() |
|
![]() |
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ปกคลุมด้วยป่าไม้สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าดิบแล้งชนิดนี้ ประกอบด้วย ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง กระเบากลัก เป็นต้น ส่วนป่าเต็งรัง ประกอบด้วย เต็ง รัง พะยอม เป็นต้น ป่าทั้งสองชนิดครอบคลุมเนื้อที่ประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ สถานีฯ สะแกราช นอกนั้นเป็นป่าชนิดอื่น เช่น ป่าไผ่ ป่าปลูกทุ่งหญ้า
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ได้รับรางวัลกินนรี ประจำปี 2549 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นสถานที่เพื่อการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน (ป่าดงดิบแล้ง/ป่าเต็งรัง) ที่สมบูรณ์แบบ และยังเป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติแก่ผู้สนใจและเยาวชน เหมาะแก่การศึกษาธรรมชาติพักผ่อนหย่อนใจ นับเป็นกำไรจากธรรมชาติอีกแหล่งหนึ่ง ที่มีคุณค่าประโยชน์มหาศาล เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์สัตว์นานาชนิด อาทิ เก้ง หมูป่า ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังเขียว พระยากระรอกสีดำ กวางป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผักพื้นบ้านนานาพันธุ์ อาทิ ผักกูด ผักหวาน กระถิน และเห็ดนานาชนิด โดยเฉพาะเห็ดโคน และยังเป็นแหล่งของ “ลูกดิ่งหรือสะตออีสาน” พืชยอดฮิตของผู้นิยมรับประทานผักอีกด้วย รวมทั้งเป็นศูนย์การประชุมและสัมมนาที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสมบูรณ์แบบ
ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร โทร. 0-2333-3700 ต่อ 3728
โทรสาร 02-354-3763 E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ภาพข่าวโดย : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
ส่งโดย : นางสาวสุนิสา ภาคเพียร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์