กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วิทย์ฯ มอบรางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2553

รมว.วิทย์ฯ มอบรางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2553

พิมพ์ PDF

ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานมอบรางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2553 หรือ “นักวิทย์น้อยทรู”  ภายใต้หัวข้อ “โครงงานวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อม  และสังคมอย่างยั่งยืน”  และ “โครงการเครื่องปัดขยะลดภาวะโลกร้อน”  โรงเรียนบ้นกุดจอกน้อย  จังหวัดสกลนคร ได้รับคัดเลือกให้ได้รับเหรียญทอง  โดยมี รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ นายกสมาคมวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย  ,  ดร.ปทัต  นาถจำนง  รองผู้อำนวยการ ด้าน Network Service Center True ร่วมในพิธี  ณ ห้องประชุม 101 อาคารประชุมสุขอาชวอำรุง คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553

 

            ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  กล่าวแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รับรางวัล ว่า  โครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น้องๆ นักเรียน  ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาในวันนี้  นับว่าเป็นงานวิจัยที่ได้ใช้หลักคิดทางด้านวิทยาศาตร์ เพื่อตอบปัญหาข้อสงสัย  และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้อสงสัยที่เกิดขึ้น  เป็นการฝึกให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ได้คิด ได้ค้นคว้า ได้ทดลองด้วยตนเอง จนเกิดเป็นชิ้นงานที่น่าชื่นชมยินดีและน่าภาคภูมิใจ  แก่ทั้งนักเรียน  ผู้ปกครอง  ครู-อาจารย์  ที่ได้มีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษา  อีกทั้งโครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนเหล่านี้  ไม่ว่าจะเป็นโครงงานที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีสารสนเทศ  การอนุรักษ์และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ  การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน อย่างประหยัดและให้คุณค่า  การลดมลภาวะ  ตลอดจนการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการสร้างสิ่งทดแทนต่างๆ เหล่านี้  นับเป็นการกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรมในระดับชุมชน  และเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้  เพื่อนำความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้น  ให้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชนในท้องถิ่น  และสามารถนำไปขยายผลการใช้ประโยชน์  ให้เกิดขึ้นในระดับประเทศได้ต่อไปในอนาคต  จึงนับได้ว่าเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ฯ ของเด็กและเยาวชนในระดับประถมศึกษานี้ เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  ในการวางรากสร้างทางด้านบุคลากร  ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไปในอนาคต  ซึ่งผมต้องขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับน้องๆ ทุกคนที่ได้ชนะรางวัลในวันนี้  และเป็น “นักวิทย์น้อยทรู” ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2553  ทุกคนในที่นี้จะขอเป็นกำลังใจให้ท่านได้ตั้งใจศึกษาเหล่าเรียน  พัฒนาความคิดและแสวงหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์พัฒนาชิ้นงานและนวัตกรรม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติของเราต่อไป     
 

 

            รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ นายกสมาคมวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย  กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ มาเป็นประจำทุกปี  ตั้งแต่ปี 2536  โดยในปีแรกได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  และต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกลุ่มบริษัท ทรู คอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งได้ดำเนินการจัดประกวดมาแล้วจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 17  การจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ เป็นกิจกรรมที่สมาคมฯ ได้ดำเนินการในฐานะอนุกรรมการเกี่ยวกับกิจกรรมเยาวชน  เนื่องในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดการประกวดฯ ดังนี้  เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษามีโอกาสได้แสดงออกทางสติปัญญาและความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กว้างขวางมากขึ้น  เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยการสร้างความรู้  พัฒนา เจตคติทางวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้มีวัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์  และเห็นโลกทรรน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น  โครงงานวิทยาศาสตร์ฯ ระดับประถมศึกษา  เป็นงานวิจัยที่เด็กๆ ได้ใช้หลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้  เพื่อตอบปัญหาหรือข้อสงสัย  หรือหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตนเองสงสัย  โดยเริ่มจากความสงสัยของตัวนักเรียนเอง  และเรียนรู้จากความคิดโดยอาศัยประสบการณ์และความรู้ที่ได้เรียนรู้แล้ว  มีครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำปรึกษาและสนับสนุนให้นักเรียนกล้าคิด  กล้าทำกล้าทดลอง  และพัฒนาปรับปรุงแก้ไขจนสำเร็จได้เป็นผลงานตามจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้  รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ตั้งแต่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง  โรงเรียน  ชุมชน  องค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ได้สนับสนุนในด้านต่างๆ พร้อมทั้งได้นำผลงานจากการเรียนรู้ต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนให้เป็นรูปธรรม  จึงเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้และการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดเป็นชุมชนวิทยาศาสตร์ในระดับชุมชนท้องถิ่น  และขยายผลไปสู่ระดับประเทศต่อไป  
            ปีนี้มีโครงงานฯ ส่งเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 378 โครงงาน จากโรงเรียนประถมศึกษาทุกสังกัดทุกภาคของประเทศ เป็นโครงงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  ICT  และสิ่งแวดล้อม  ซึ่งใช้วิธีการทางวิทยาศาตร์  ในการศึกษาหาความรู้  เพื่อได้มาซึ่งคำตอบเป็นโครงงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  การลดมลพิษสิ่งแวดล้อม  การนำกลับมาใช้ใหม่  การสร้างสิ่งทดแทน  การประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์  หรือการพัฒนาและใช้ ICT  ในการสร้างนวัตกรรมทางปัญญาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป  และในปีนี้มีโครงงานฯ ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้าย จำนวน 15 โครงงานฯ 

 

            ผลการตัดสินของคณะกรรมการฯ 
            รางวัลระดับเหรียญทอง  มี  1 รางวัล ได้แก่
                  1.  โครงงานเครื่องปัดขยะลดภาวะโลกร้อน  โรงเรียนบ้านกุดจอกน้อย จ.สกลนคร  เป็นผลงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
            รางวัลระดับเหรียญเงิน  มี  3 รางวัล ได้แก่
                  1.  โครงงานการเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ชัยนาท 1  โดยใช้แหนแดง  โรงเรียนจตุคามวิทยาคม  จ. นครราชสีมา  เป็นผลงานประเภททดลอง
                  2.  โครงงานการศึกษาความเหมาะสมของก้านทางใบปาล์มในการทำป้ายประกาศ  โรงเรียนอุตรกิจ  จ.กระบี่   เป็นผลงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
                  3.  โครงงานเครื่องทดสอบสายตาสั้น  สายตายาว  โรงเรียนราชวินิต  กรุงเทพฯ เป็นผลงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
            รางวัลระดับเหรียญทองแดง  มี 10 รางวัล ได้แก่
            ประเภทสำรวจ
                  1.  โครงงานกาฝาก...พืชเบียนลำต้น  นักบุญหรือเพชฌฆาต  โรงเรียนวัดชัยฉิมพลี  กรุงเทพฯ 
                  2.  โครงงานการศึกษาพฤติกรรมของเม่นแคระ  โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) จ.ชลบุรี 
            ประเภททดลอง
                  3.  โครงงานการเร่งการงอกและการเจริญเติบโตของพืชโดยไฟฟ้ากระแสตรง  โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม กรุงเทพฯ
                  4.  โครงงานความมหัศจรรย์ของนมบูดกับพืชสีเขียว  โรงเรียนเคหะชุมชนลาดกระบัง กรุงเทพฯ
                  5.  โครงงานเหงือกปลาหมอน้อยตามรอยเท้าพ่อ  โรงเรียนวัดแสมดำ  กรุงเทพฯ
            ประเภทสิ่งประดิษฐ์
                  6.  โครงงานของเล่นเสียงจักจั่นลดขยะ  โรงเรียนบ้านดอนแพง  จ.หนองคาย
                  7.  โครงงานเครื่องดักจับแมลงร้าย  โรงเรียนบำรุงวิววรรณวิทยา  กรุงเทพฯ
                  8.  โครงงานเครื่องดักแมลงจากแผ่น CD Insect Trap  โรงเรียนบ้านโนนกุง  จ.อำนาจเจริญ
                  9.  โครงงานอ่างล้างจานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม  โรงเรียนขจรเกียรติศึกษา  จ.ภูเก็ต
            ประเภทสิ่งประดิษฐ์ (ICT)
                  10.  โครงงานการพัฒนาเกมลดโลกร้อน P.K.P  V.1  โรงเรียนสาธิตพัฒนา  กรุงเทพฯ 
                  หมายเหตุ  มีถอนตัว 1 โครงงาน

 

ผู้เขียนข่าว  :  นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  โทร. 0-2333-3700 ต่อ 3728
                       โทรสาร 02-354-3763     E-Mail : 
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป