กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วิทย์ฯ มอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

รมว.วิทย์ฯ มอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

พิมพ์ PDF


เช้าวันนี้ (12 สิงหาคม 2553 เวลา 11.00 น.)  ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2553 “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในเมืองไทย”  จัดโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมี ดร.สุจินดา  โชติพานิช  ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  และผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมในพิธี  ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา  กรุงเทพฯ


              ดร.วีระชัย  วีระเมธีกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลฯ ว่า  ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ชนะการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2553 ทั้ง 4 ประเภท  ทุกท่าน  และขอชื่นชมในความตั้งใจและความเพียรพยายามของทุกท่าน  ในการถ่ายภาพที่สวยงาม  มีคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะและทางด้านวิทยาศาสตร์และหาชมได้ยากเช่นนี้  ซึ่งโดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ชื่นชอบทางด้านดาราศาสตร์  ผมชอบดูดาวและปรากฏการณ์ทางด้านดาราศาสตร์  ทำให้ผมเข้าใจว่ากว่าจะได้ภาพถ่ายที่สวยงามและมีคุณค่าเช่นนี้  ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์  ต้องอาศัยความอดทนในการเฝ้ารอคอยปรากฏการณ์ดาราศาสตร์  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่สามารถไปจัดฉากได้  รวมทั้งยังต้องอาศัยความรู้และทักษะความชำนาญเกี่ยวกับการถ่ายภาพ  และมุมมองที่เป็นศิลปะทางด้านภาพถ่ายจึงจะได้องค์ประกอบของภาพผลงานออกมางดงาม  และสามารถชนะใจท่านคณะกรรมการ  ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  จนได้รับรางวัลในวันนี้  และขอเป็นกำลังใจให้ทั้ง 16  ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีของการใช้ดาราศาสตร์  และการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนัก  ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในหมู่เด็ก  เยาวชน  และสังคมไทยต่อไปในภายภาคหน้า
              ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ  ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ถือเป็นสื่อทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวประชาชน  สามารถจับต้องได้ง่าย  ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ และความสวยงานของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ บนท้องฟ้าแล้ว  ยังสร้างความประทับใจ  สร้างแรงบันดาลใจในการสังเกต  การค้นคว้า  การเสาะแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุมีผล  ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชน  ประชาชนทั่วไป  ตลอดจนผู้รักการถ่ายภาพทั้งหลาย มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกิจกรรมทางดาราศาสตร์มากขึ้นอีกด้วย  ซึ่งผมต้องขอชื่นชมทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติผู้จัดการประกวด  และขอขอบคุณทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ร่วมดำเนินการตัดสินการประกวดภาพถ่ายในครั้งนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

              ด้าน รศ.บุญรักษา  สุนทรธรรม  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  กล่าวว่า  โครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ได้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2551  โดยในแต่ละปี มีผู้สนใจจากทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดและร่วมส่งภาพถ่ายทางดาราศาสตร์เข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น  สำหรับปี 2553 นี้ มีผู้สนใจส่งภาพเข้าร่วมประกวดมากกว่า 60 คน  จำนวนภาพมากกว่า 150 ภาพ  และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2551-2552  ผู้ส่งภาพเข้าประกวดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีความสนใจด้านดาราศาสตร์  และเข้าร่วมกิจกรรมทางดาราศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  แต่สำหรับในปี 2553 นี้ เริ่มมีผู้เข้าประกวดที่หลากหลายมากขึ้น  ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความสนใจด้านดาราศาสตร์อยู่แล้ว  อีกส่วนหนึ่งจะเป็นประชาชนทั่วไปที่รักการถ่ายภาพ  และเริ่มหันมาสนใจในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์  ทำให้มีการส่งภาพถ่ายทางดาราศาสตร์เข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น  โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาตัดสินผลการประกวดในครั้งนี้  ได้แก่  ผู้แทนจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์  นักวิชาการด้านการถ่ายภาพ  ผู้แทนจากชมรมถ่ายภาพ  ผู้แทนสื่อมวลชน สำหรับภาพที่ได้รับรางวัลในแต่ละปีทางสถาบันฯ ได้นำมาจัดทำเป็นสื่อทางดาราศาสตร์เผยแพร่ต่อสาธารณชนในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิทินดาราศาสตร์  โปสการ์ด  การ์ดอวยพร  ภาพประกอบสื่อทางด้านดาราศาสตร์  รวมทั้งนำไปจัดนิทรรศการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์สัญจรตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ในภูมิภาคต่างๆ ได้มีโอกาสสัมผัสความสวยงาน  ความมหัศจรรย์ของท้องฟ้า  ดวงดาว  รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ อย่างทั่วถึง  โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้นำผลงานภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ไปจัดแสดงในโครงการนิทรรศการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์สัญจรซึ่งได้ดำเนินการจัดแสดงไปแล้ว  3  ครั้ง  ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  จังหวัดเชียงใหม่  และจังหวัดนครราชสีมา  และขอเชิญชวนล่วงหน้าไปยังผู้ที่สนใจร่วมส่งภาพเข้าประกวดในปีต่อไป สำหรับโครงการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”  โดยสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดของการส่งภาพได้ที่เวบไซต์ ของสถาบันฯ  และสามารถเช็คข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางดาราศาสตร์ในแต่ละช่วยเวลาเพื่อจะได้เก็บภาพสวยๆ มาร่วมส่งประกวดได้ที่ www.narit.ot.th
              ผลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2553  “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
              ประเภท Deep Sky Objects

                     รางวัลชนะเลิศ   ชื่อภาพ : Helix Nebula
                                            โดย : นายตระกูลจิตร   จิตตไสยะพันธ์

 

                     รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1   ชื่อภาพ : แม่มด
                                              โดย : ทพ.ชัยยศ  หงส์จินดาพงศ์
                     รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2   ชื่อภาพ : เมฆดาวเนบิวลาทะเลสาบ
                                              โดย : นายพรชัย  อมรศรีจิรทร
                     รางวัลชมเชย   ชื่อภาพ : Leo Triplet  
                                              โดย : นายวิทยา  ศรีชัย

              ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
                     รางวัลชนะเลิศ ชื่อภาพ มหัศจรรย์สุริยุปราคา
                                             โดย นายวินนิวัตร   ไตรตรงสัตย์


                     รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อภาพ พระจันทร์นอนยิ้ม
                                             โดย นายโอภาส   ชาญมงคล
                     รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ชื่อภาพ ผลงานจากการเฝ้าคอย
                                             โดย นายณฐฤทธ์   หนุนพระเดช
                     รางวัลชมเชย ชื่อภาพ ดวงจันทร์บังดาวศุกร์
                                             โดย นายปรมาพร   ศรีสุโร
              ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
                     รางวัลชนะเลิศ ชื่อภาพ สถานีอวกาศนานาชาติผ่านหน้าดวงอาทิตย์
                                             โดย นายพรชัย   อมรศรีจิรทร


                     รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ชื่อภาพ Mars 2003
                                             โดย นายตระกูลจิตร   จิตตไสยะพันธ์
                     รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ชื่อภาพ Moon HDR
                                             โดย นายวิทยา   ศรีชัย
                     รางวัลชมเชย ชื่อภาพ ดาวอังคารใกล้โลก
                                             โดย นายวรวิทย์   ตันวุฒิบัณฑิต
              ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
                     รางวัลชนะเลิศ   ชื่อภาพ : ปราสาทแสงดาว
                                              โดย : นายเสฏฐวุฒิ  ชาลาบุตระ


                     รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1  ชื่อภาพ : เหนือกาลเวลา
                                              โดย : นายพีระพงษ์  ประสูตร์
                     รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2   ชื่อภาพ : ดาวหมุนที่สามพันโบก
                                              โดย : นายณวรัญญ์  ศิริสุนทร
                     รางวัลชมเชย   ชื่อภาพ : ทางช้างเผือกเหนือค่ายพักแรม
                                              โดย : นายทวีศักดิ์  ยุทธรักษา

 

 


ผู้เขียนข่าว  :  นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  โทร. 0-2333-3700 ต่อ 3728
                       โทรสาร 02-354-3763     E-Mail : 
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป