ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ผศ. ดร. ฉัตรชัย โชติษฐยางกูร ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน (โครงการ วมว.) และคณะกรรมการบริหารฯ เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนตามโครงการสนับสนุนการจัดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมี นายมาณพ วงษ์คำ หัวหน้ากลุ่มงานโครงการพิเศษ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และคณะครู-อาจารย์ และนักเรียนในโครงการฯ ให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553
ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมการฯ ขอขอบคุณโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ที่กรุณาสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ช่วยจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ และวันนี้ก็ได้กรุณาให้มาเยี่ยมชมการบริหารจัดการของโรงเรียนและการทำกิจกรรมของนักเรียนในโครงการนี้ด้วย คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่แต่ละแห่งจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพราะโรงเรียนจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีการจัดการเพื่อให้เกิดคุณภาพ ยินดีที่ได้มาเห็นและรับทราบผลงานของนักเรียนที่ได้ก้าวไปรับรางวัลระดับชาติ ขอร่วมแสดงความดีใจกับทางโรงเรียนด้วย นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้ส่งเสริมกิจกรรมที่หลากหลายให้กับนักเรียนด้วย อาทิ ค่ายธรรมชาติวิทยา ค่ายปฏิบัติธรรมและก่อนเข้า ม. 1 ต้องบวชเรียนก่อน เป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้มีคุณธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ วมว. มีความตั้งใจที่จะจัดการเรียนการสอนที่ดี มีคุณภาพให้กับนักเรียนกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อปกป้องเขาให้เติบโตเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เป็นกำลังของประเทศต่อไป
ด้าน ผศ. ดร. ฉัตรชัย โชติษฐยางกูร ประธานคณะกรรมการบริหารฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการฯ ต้องการที่จะบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นเยาว์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จำนวน 15 คน และจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 20 คน ร่วมอยู่ในทีมผู้สอน รวมทั้งมีนักศึกษามหาบัณฑิตและอาสาสมัครชาวต่างประเทศเป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้สอน
ผลงานที่ผ่านมาในเรื่องโอลิมปิกวิชาการ นักเรียนทั้งหมดทั้ง ม.4 และ ม.5 ได้ผ่านเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการค่ายที่ 1 จำนวน 40 คน ค่ายที่ 2 จำนวน 30 คน ผ่านเข้าเป็นตัวแทนระดับประเทศและได้รับรางวัล เป็นสาขาฟิสิกส์ 2 คน เคมี 1 คน ชีวะ 1 คน และคณิตศาสตร์ 1 คน ซึ่งเด็กจะเก่งทางฟิสิกส์ ทำให้ตัวเลขทางด้านฟิสิกส์สูงกว่าสาขาอื่น ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนที่เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ จะเป็นเด็กนักเรียนในโครงการ วมว. และผลงานของนักเรียนได้รับการคัดเลือกให้ไปร่วมแสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ Shanghai International Technology Science Expo เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2553 เป็นโครงการนำหญ้าแฝกมาเป็นส่วนประกอบในการทำพลาสติกย่อยสลายได้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอีกกิจกรรมที่สำคัญคือการเชิญผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มาเล่าให้เด็ก ๆ ได้รับทราบ เช่น อาจารย์อาจอง เรื่องนักวิทยาศาสตร์สู่การวิจัยระดับโลก ซึ่งจะมีกิจกรรมเช่นนี้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หัวข้อที่กำหนดเป็นการเสนอของนักเรียนว่าสนใจในเรื่องใดจะทำให้นักเรียนได้พบปะกับผู้มีชื่อเสียงในด้านต่าง ๆ โดยห้องเรียนจะใช้ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย Lab ทดลองใช้ที่มหาวิทยาลัยฯ
ด้าน นายมาณพ วงษ์คำ หัวหน้ากลุ่มงานโครงการพิเศษ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ตั้งมา 111 ปีแล้ว มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ รูปแบบการทำงานของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย แบ่งสายงานออกเป็น 7 สาย โครงการ วมว. ขึ้นอยู่กับกลุ่มงานโครงการพิเศษ โดย มทส. จะเป็นพี่เลี้ยงมาโดยตลอดในทางวิชาการ ตั้งแต่เริ่มเปิดนักเรียนโครงการพิเศษมา ซึ่งมีมานานแล้ว ก่อนที่จะมีโครงการ วมว. เราเรียกว่าโครการเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ ตั้งแต่คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยเราเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ ม. 1 และทุกวันนี้เป็นการต่อยอด ทุกวันนี้มีบางคนไปเรียนต่อที่โรงเรียนมหิดลราชานุสรณ์ ตรงนี้จะเป็นข้อได้เปรียบ และ มทส. กับราชสีมาวิทยาลัย ได้แลกเปลี่ยนกันมาตลอด ซึ่งได้ให้การช่วยเหลือตั้งแต่เปิดโครงการพิเศษ ตั้งแต่ ม. 1 ห้องเรียนพิเศษจะมี 3 ห้องๆ ละนักเรียน 30 กว่าคน เอกคณิตศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์ และเอกEngtech (อังกฤษเทคโนโลยี) ซึ่งโครงการ วมว. มาอยู่ตรงนี้ถือเป็นการต่อยอด ในเวทีวิชาการจะเห็นว่าครูที่นี้มีความกระตือรือร้นสูง ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรมาสอนก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเป้าหมายการสอนเด็กกลุ่มนี้ ครูต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ด้านหนึ่งคือครูต้องประพฤตตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก เพราะผมกลัวว่าเด็กเก่งแล้วขาดคุณธรรมจะเป็นอันตรายมาก เด็กในโครงการ ม. 1 จะเข้ามาเรียนต้องบวชก่อน 30 วัน ถ้าบวชได้ก็ถือว่ามีสิทธิ์เรียนในโครงการฯ เป็นเงื่อนไขข้อแรก และการจัดการเรียนการสอนชั้น ม. ต้นที่นี้ใช้งบประมาณจากผู้ปกครอง 100 % เป็นการอุดหนุนของผู้ปกครองทั้งหมด และนักเรียนที่พักอยู่ มทส. ก็ให้อาจารย์ไปเป็นอาจารย์พ่ออาจารย์แม่ผลัดเปลี่ยนกันไปนอนที่หอพัก เพื่อให้กำลังใจเด็ก โดยเป้าหมายให้เด็กที่จบการศึกษาแล้วเห็นแก่ชาติบ้านเมืองและมีจิตสาธารณะ ซึ่งเด็กเหล่านี้จบออกไปแล้วเขาจะไปเรียนสาขาใดก็ตาม เรื่องจิตสาธารณะเขาต้องมีแน่นอน
ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร โทร. 0-2333-3700 ต่อ 3728
โทรสาร 02-354-3763 E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน