![]() |
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางไปร่วมในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “สร้างความเชื่อมั่น ด้วยความสามารถ ยอมรับทั่วโลก” เนื่องในวันรับรองระบบงานโลก 9 มิถุนายน 2553 พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “การรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการทดสอบและผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญ” จัดโดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมในพิธีฯ ณ ห้อง Grand Hall ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การรับรองระบบงานนั้น นอกจากจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้า การพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการรับรองระบบงานเป็นหนึ่งในกลไกในระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าร่วมกันระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งคือ ทดสอบเพียงครั้งเดียว ได้รับการยอมรับทั้งโลก และสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าของไทย ดังนั้น เมื่อสินค้าของไทยได้ผ่านการรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศแล้ว สินค้าก็จะสามารถนำไปจำหน่ายในประเทศเหล่านี้ได้ โดยไม่ต้องตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน จากหน่วยงานตรวจสอบรับรองอีก รวมทั้งระบบตรวจสอบรับรองของห้องปฏิบัติการนั้น จะให้ความสำคัญกับการควบคุมปริมาณมลพิษต่างๆ ที่จะปลอดออกสู่สิ่งแวดล้อมมิให้เกินไปกว่าค่าของมาตรฐานการปลอดมลพิษ ซึ่งนับเป็นกลไกหนึ่งของการควบคุมการปลอดมลพิษในกระบวนการผลิตของภาคเอกชน
กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานรับรองระบบงาน 1 ใน 4 ของประเทศไทย ซึ่งมีภารกิจที่สำคัญในการดำเนินการเกี่ยวกับการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยได้เริ่มให้บริการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2546 ภายหลังการดำเนินงานรับรองระบบงานมาเพียง 3 ปี กรมวิทยาศาสตร์บริการ ก็ได้รับการยอมรับร่วมจากองค์กรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 และหลังจากนั้นก็ได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (ILAB) เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการทดสอบที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ จำนวนทั้งสิ้น 51 ห้องปฏิบัติการ มีขอบข่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง เช่น น้ำตาลและผลิตภัณฑ์น้ำตาล อาหารสัตว์ ภาชนะผลิตภัณฑ์ยางพารา เครื่องหนังและพลาสติก เคมีภัณฑ์ กระดาษ รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการภาคเอกชน เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนห้องปฏิบัติการการทดสอบที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับห้องปฏิบัติการทั้งหมด แต่กรมวิทยาศาสตร์บริการ ก็ยังยืนยันที่จะให้ความรู้ช่วยเหลือและสนับสนุนในการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการให้มีความนิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
นอกจากการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการแล้ว การทดสอบความชำนาญก็ยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการประกันคุณภาพ/ประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันเองระหว่างห้องปฏิบัติการในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของตนอยู่เสมอ การเข้าร่วมการทดสอบความชำนาญของห้องปฏิบัติการจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับห้องปฏิบัติการในการรักษาประสิทธิภาพและคุณภาพของการให้บริการ และจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่จะมาใช้บริการการรับรองจากห้องปฏิบัติการด้วย
![]() |
![]() |
ด้าน นางรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรอบความตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ที่ยอมให้นำการยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและการรับรอง โดยใช้มาตรการการับรองระบบงานของหน่วยรับรองที่ให้บริการต่าง ๆ มาเป็นมาตรการในการนำเข้าสินค้าได้ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยการจัดระบบการมาตรฐานของประเทศไทยให้สอดคล้องกับระบบของสากล โดยมีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน (National Accreditation Council-NAC) มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการดำเนินการด้านการรับรองงานด้านการมาตรฐานของประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันกับประเทศต่าง ๆ และมีความสอดคล้องกับระบบสากล ซึ่งในระยะแรกมีสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงานทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ต่อมากิจกรรมการรับรองระบบงานทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ภาครัฐได้ขยายกิจกรรมการรับรองงานตามความจำเป็นในสาขาต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้การรับรองระบบงาน ดังนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับรองระบบงานหน่วยรับรอง หน่วยตรวจ ห้องปฏิบัติการทดสอบ และห้องปฏิบัติการสอบเทียบ กรมวิทยาศาสตร์บริการ รับรอง ระบบงานห้องปฏิบัติการด้านฟิสิกซื เคมี และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และรับรองผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับรองระบบงานห้องปฏิบัติการด้านสาธารณสุข และด้านการแพทย์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ รับรองระบบงานหน่วยรับรอง ระบบความปลอดภัยของอาหารหน่วยรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และการปฏิบัติการทางการเกษตรที่มี (Good Agricultural Practice, GAP) การรับรองระบบงานดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ลดการตรวจสอบช้ำจากคู่ค้า ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานด้านการรับรองระบบงานของประเทศเป็นเอกภาพ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ขึ้น โดยให้มีคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (กมช.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และประสานงานด้านการมาตรฐานของประเทศไทย ให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ สำหรับการสัมมนาในวันนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่จะร่วมกันเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของระบบการตรวจสอบและรับรองของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดโลกได้ต่อไป
ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร โทร. 0-2333-3700 ต่อ 3728
โทรสาร 02-354-3763 E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ภาพข่าวโดย : นางสาวสุนิสา ภาคเพียร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร 02-333-3700 ต่อ 3732