ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เป็นประธานในงานแถลงข่าวและงานเลี้ยงแสดงความยินดีต่อเยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair(Intel ISEF 2010) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซานโฮเซ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2553 โดยมีนักเรียนมากกว่า 1,600 คน จาก 50 กว่าประเทศเข้าร่วมในการแข่งขันครั้งนี้ ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้กล่าวชื่นชมในผลงานของเยาวชนไทยว่า " ในการร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกานี้ ตนเองมีความภูมิใจกับผลงานของเยาวชนทุกคนที่ได้มีโอกาสเป็นนักเรียนตัวแทนประเทศไทยไปแสดงผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ประจักษ์แก่นานาชาติ รางวัลที่ตัวแทนประเทศไทยได้รับจำนวน 4 รางวัลนี้ นับเป็นการประสบความสำเร็จและรางวัลชีวิตของตัวแทนเยาวชนไทยทุกคนทั้งที่ได้รางวัล หรือไม่ได้รับรางวัลก็ตาม เพราะถือว่า นอกเหนือไปจากการได้รับรางวัลอันทรงเกียรติแล้ว สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือ การได้ไปแสดงศักยภาพการพัฒนากระบวนการคิดและการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้นานาชาติยอมรับได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้เยาวชนของประเทศอื่นๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรปหรืออเมริกาเลย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของตัวแทนเยาวชนไทย ในการก้าวไปสู่การเรียนรู้แลกเปลี่ยนทัศนะใหม่ๆ จากเพื่อนนานาชาติ เพื่อที่จะมาพัฒนาแนวทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของตัวเราเอง
![]() |
![]() |
![]() |
|
![]() |
![]() |
โดยเมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที 14 พฤษภาคม 2553 ตามเวลาประเทศไทย ได้มีการประกาศผลรางวัล Grand Awards สาขาวิศวกรรม-วัสดุศาสตร์ ประเภทบุคคล ซึ่งเยาวชนไทยคว้ารางวัลอันดับ 4 จากโครงงานผลตอบแทนและคุณภาพของยางก้อนถ้วยระหว่างการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพกับกรดฟอร์มิก (Innovation Use of Anaerobic Effective Microorganisms for Natural Rubber Latex Coagulation) ผลงานของนายศุภชัย นิลดำ นักเรียนจากโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 500 เหรียญสหรัฐฯ
![]() |
|
![]() |
![]() |
ในเวลา 00.10 น. ของวันที 15 พฤษภาคม 2553 ตามเวลาประเทศไทย ได้มีการประกาศผลรางวัล Grand Awards ประเภททีม ซึ่งเยาวชนไทยคว้ารางวัลอันดับ 4 จากโครงงานผลของการดัดแปลงสี รสชาติ และกลิ่นของเมล็ดพันธุ์ข้าว ด้วยสารสกัดธรรมชาติต่อการป้องกันนกกินข้าวในนาหว่าน (Modification of Breeding Rice Grains through Artificial colors, Flavor and Smell Used in Prevention of Grain-consuming Birds ) ผลงานของน.ส.สายฝน นภนิภา และน.ส.อภิชญา นพเลิศ นักเรียนจากโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 500 เหรียญสหรัฐฯ
ซึ่ง 2 โครงงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้เป็นตัวแทนนักเรียนไทยที่ชนะเลิศจากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC 2010) ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สนับสนุนตัวแทนเยาวชนไทยจำนวน 3 โครงการ เข้าร่วมการแข่งขัน และเข้าร่วมสังเกตุการณ์ จำนวน 2 คน ในเวที Intel ISEF 2010
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 โครงงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้เป็นตัวแทนนักเรียนไทยที่ชนะเลิศจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่
โครงงาน Leaf Extracts of Euphorbiaceae Can Eradicate the Field Crab, Somanniathelphusa sexpucntata (ผลของสารสกัดจากพืชวงศ์ Euphorbiaceae กำจัดปูนา) โดย นางสาวมาลินี มีทา โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลที่ 3 Grand Awards สาขาพฤกษศาสตร์ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ
โครงงาน Paleontological Study of Permian Gastropoda at Khoa Noi, Amphoe Takhli, Changwat Nakhonsawan, Central of Thailand (การศึกษาโบราณชีววิทยาของหอยฝาเดียวยุคเพอร์เมียน บริเวณเขาน้อย อ.ตาตลี จ.นครสวรรค์) โดย นายฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ ได้รับรางวัลที่ 3 Special Awards จากสถาบันภูมิศาสตร์อเมริกัน (American Geological Institute) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 250 เหรียญสหรัฐฯ
โดย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งตัวแทนเยาวชนไทยจำนวน 3 โครงการ เข้าร่วมการแข่งขัน ในเวที Intel ISEF 2010 เช่นกัน
ผู้เผยแพร่ข่าว : ศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ภาพข่าวโดย : สุนิสา ภาคเพียร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี