กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยคณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ กรอ.วท. เล็งเห็นความสำคัญเกษตรกรชาวไร่อ้อย พร้อมตอบสนองความต้องการเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยพัฒนาสร้างรถตัดอ้อยต้นแบบ ราคาประหยัด ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ภายใต้โครงการวิศวกรรมย้อนรอย ตั้งเป้า 3 ปี มีรถตัดอ้อยฝีมือคนไทยใช้งานไม่น้อยกว่า 300 คัน
นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเลขานุการ กรอ.วท. เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการพัฒนารถตัดอ้อยต้นแบบ ว่า “สืบเนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ได้พิจารณาอนุมัติในหลักการ เรื่อง โครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงาน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอโดยมีเป้าหมายกำหนดว่า ภายใน 3 ปี จะต้องมีการใช้รถตัดอ้อยเพื่อการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 300 คัน และจะต้องมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จัดทำวงเงินสินเชื่อสำหรับปล่อยกู้ให้กับชาวไร่อ้อยปีละ 1 พันล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี (2553-2555) รวม 3 พันล้านบาท โดยขอให้คิดดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษให้กับชาวไร่อ้อย นำไปจัดซื้อรถตัดอ้อยมาใช้ในไร่อ้อยของตนเอง (รถตัดอ้อยนำเข้ามีราคาประมาณ 10-15 ล้านบาท/คัน) โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระ 6 ปี
![]() |
นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดประชุมปรึกษาหารือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนผู้มีศักยภาพในการผลิตรถตัดอ้อย เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ประกอบการพิจารณาแนวทางดำเนินงานพัฒนารถตัดอ้อยต้นแบบ ภายใต้โครงการวิศวกรรมย้อนรอย มาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ได้ข้อสรุปคุณสมบัติเบื้องต้นของรถตัดอ้อยต้นแบบที่จะทำการพัฒนา โดยเป็นรถตัดอ้อยขนาดกลาง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถตัดอ้อยในพื้นที่เพาะปลูกแบบชาวบ้านได้ และขณะนี้ได้คัดเลือกผู้ดำเนินโครงการ ที่เหมาะสมแล้วโดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบ และให้สมาคมเครื่องจักรกลไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรต้นแบบ พร้อมยินดีร่วมสนับสนุนงบเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 9 เดือน หรือให้เสร็จทันเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยที่จะออกในฤดูกาลนี้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 ”
คุณสมบัติรถตัดอ้อยตันแบบ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนพัฒนา ได้แก่
• กำลังการตัดอ้อย สามารถตัดอ้อยได้ 60 ตัน/วัน
• ทำงานกับสภาพแปลงปลูกอ้อยของประเทศไทยที่ระยะระหว่างร่องปลูกมีความกว้างประมาณ 1.2 – 1.3 เมตร (ภาคอีสาน) และกว้างประมาณ 1.5 เมตร (ภาคกลาง)
• สามารถตัดอ้อยสด อ้อยล้ม อ้อยมีความหนาแน่นและสามารถแยกยอดอ้อยกาบใบอ้อยออกทิ้งได้
• สามารถขนอ้อยที่ตัดแล้วขึ้นรถบรรทุกอ้อยได้โดยตรง
• ตัดอ้อยได้ชิดดินโดยไม่ทำให้ตอใต้ดินแตกและตอถูกถอน
• เมื่อผลิตแล้วราคาขายต่ำกว่านำเข้า ประมาณ 50%
ข้อมูลข่าวโดย: เทียรทอง ใจสำราญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการ