![]() |
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และ 2547 จำนวน 46,800 ตัน โดยการนำไปรีไซเคิลเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2552 เป็นต้นมา และตามข้อตกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องทำการบดทำลายลำไยหน้าโกดังทั้ง 60 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 5 เดือน หรือ 150 วัน แล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุดได้รับการเปิดเผยจาก ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารโครงการรีไซเคิลลำไยฯ ว่า “นับจากวันแรกที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เริ่มบดลำไยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2553 รวมเวลา 113 วัน ได้ทำการบดลำไยหน้าโกดังแล้ว จำนวน 37,962 ตัน คิดเป็น 81% ของลำไยทั้งหมด โดยขณะนี้เหลือลำไยอีก 7 โกดัง หรืออีกประมาณ 1 หมื่นตัน ก็จะดำเนินการแล้วเสร็จตามข้อตกลง ซึ่งหากนับเวลาที่เหลือจากนี้ไปคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรค เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการประเมินสถานการณ์และปรับแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เสร็จทันภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2553 โดยจะหยุดดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประมาณ 10 วัน”
ด้านกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้สำนักงาน อ.ต.ก. เป็นผู้ควบคุมดูแลโครงการฯ และส่งมอบลำไยอบแห้งเพื่อทำลายให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 คณะอนุกรรมการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 นำโดยนายโอวาท อภิบาลภูวนารถ รองผู้อำนวยการ อ.ต.ก.(ธุรกิจเกษตร) และประธานอนุกรรมการฯ พร้อมผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะ ได้เดินทางไปสำรวจโกดังเก็บลำไยค้างสต๊อค ณ คลังสินค้าสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เพื่อตรวจสอบและประเมินสภาพลำไยและรับฟังปัญหาที่พบในบางพื้นที่ ทั้งนี้ หลังการสำรวจคลังสินค้าแล้ว ได้มีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่ อ.ต.ก.เขต 7 เชียงใหม่
โดยนายโอวาท อภิบาลภูวนารถ เปิดเผยว่า “การเข้าไปตรวจสอบสภาพลำไยล่วงหน้าถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ อ.ต.ก. ต้องดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก่อนนำเครื่องจักรเข้าดำเนินการ ซึ่งหากพบปัญหา อ.ต.ก. ก็จะมีระบบการทำงานตามขั้นตอน กล่าวคือ
- กรณีพบปัญหาเรื่องน้ำหนักลำไยที่มีความแตกต่างกันอันเกิดจากผลกระทบ อาทิ ภาวะ น้ำท่วม ขึ้นรา หนูกัดแทะ เหล่านี้ให้ถือเป็นน้ำหนักสูญหายที่สามารถรับได้ และจะมีน้ำหนักมาตรฐานรองรับ
- กรณีพบลำไยสูญหาย หรือมีสิ่งปลอมปนในกล่องลำไย เจ้าหน้าที่ อ.ต.ก. ต้องเรียกผู้เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน โดยเจ้าของโกดังต้องเป็นผู้รับผิดชอบและหากตกลงกันได้ก็จะพยายามให้จบปัญหาภายใน 1 วัน เพื่อเดินหน้าต่อได้ แต่หากพบปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้ในทันทีทาง อ.ต.ก.จะต้องสรุปปัญหาและนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ คือคณะกรรมการบริหารจัดการและทำลายลำไยอบแห้งปี 2546 และปี 2547 พิจารณา
ดังนั้น ในช่วงก่อนวันหยุดสงกรานต์นี้ ทาง อ.ต.ก.ได้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจสภาพลำไยในโกดังที่เหลือประมาณ 10 โกดัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งคาดหวังว่าคงไม่พบปัญหาและจะดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น ต่อไปจนจบโครงการ” นายโอวาท กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลข่าวโดย : เทียรทอง ใจสำราญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ