กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ปกท.วท.เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบูรณาการงานด้าน วทน.กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ครั้งที่3

ปกท.วท.เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบูรณาการงานด้าน วทน.กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ครั้งที่3

พิมพ์ PDF

                 เช้าวันนี้ (29 มี.ค.53)  ดร.สุจินดา  โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุม  เรื่อง “การบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด (ครั้งที่ 3) : สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส)”  เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมและหาแนวทางในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ พร้อมเปิดนิทรรศการหน่วยงานในสังกัดกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ และคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน โดยมี นายเสรี  ศรีหะไพร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา
                 ดร.สุจินดา  โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในช่วงปี 2547-2552 กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีนโยบายสนับสนุนการบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกลุ่มจังหวัดบูรณาการ โดยได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อนำศักยภาพของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด มาผนวกกับความรู้อันเกิดจากการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมที่มีฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการผลิต ดูแลทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชน ชุมชน และครอบครัว สามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่ (Area-based Collaborative Research : ABC) ในการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ สังคม ของจังหวัดจากฐานภายในอย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือ ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่นและจังหวัด เพื่อประสานเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน มีการต่อยอดซึ่งกันและกัน โดยให้ท้องถิ่นและจังหวัดเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะพิจารณาแผนงานที่ชุมชนและท้องถิ่นมีอยู่แล้วนำมาประสานกับราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เพื่อให้มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนางานจังหวัดเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศให้ดีขึ้นอย่างมีคุณภาพ กระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวง มหาดไทยในการดำเนินงานดังกล่าว โดยมอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบงานด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO) โดยใช้กลไกคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในแต่ละจังหวัดทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ของจังหวัดและประสานงานร่วมกับผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ซึ่งขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูงและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แต่งตั้งผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำจังหวัดแล้ว โดยมีการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่าง PCSO กับผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553    
                 นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยุทโธปกรณ์เพื่อนำมาใช้สำหรับด้านความมั่นคงทางทหาร และนำวิทยาศาสตร์    และเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความตระหนักและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนเพื่อให้เป็นสังคมฐานความรู้

                 ด้าน นางสาวเสาวณี  มุสิแดง  ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า  เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือ ในการทำงานเชิงบูรณาการกับกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินงาน “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้พัฒนาจังหวัด และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการ เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO)  และกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายสถาบันการศึกษาที่เป็นคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในแต่ละจังหวัด  ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ของจังหวัด และประสานการดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง
                 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เพื่อหารูปแบบ (model) ที่เหมาะสม ในการดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 350 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชนของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้งนี้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จะมีการเสวนา ถึงความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้การสนับสนุนจังหวัด ในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของผลผลิต สินค้าและบริการ  รวมทั้งการแก้ปัญหาในการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน เพื่อให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด  รวมทั้งเกิดแนวคิดที่จะนำเสนอในที่ประชุมกลุ่มย่อยในช่วงบ่ายนี้ เพื่อให้ได้รูปแบบ (model) การดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่นและจังหวัด  รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและเกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อไป
                 นอกยังมีการแสดงนิทรรศการผลงานการวิจัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง วิทยาศาสตร์ฯ และคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย 

 

 

ผู้เขียนข่าว  :  นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
                       โทร 02 333 3700 ต่อ 3728 โทรสาร 02 333 3833  E-Mail :  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ภาพข่าวโดย : นางสาวสุนิสา ภาคเพียร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป