กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน สวทช. เปิดตัวโครงการ ‘iTAP Big Impact’ ยกเครื่องเอสเอ็มอีไทย

สวทช. เปิดตัวโครงการ ‘iTAP Big Impact’ ยกเครื่องเอสเอ็มอีไทย

พิมพ์ PDF

•    ช่วยอัพเกรดเทคโนโลยีแก่ SMEs โรงสีข้าว ฟาร์มเลี้ยงไก่ โรงอบยางพารา เพื่อเพิ่มกำไรขึ้นชัดเจนทันที

•    เน้นสร้างผลกระทบกับภาคการผลิตเส้นเลือดใหญ่ระดับมหภาคของประเทศ ได้แก่ ข้าว ไก่ ยางพารา

•    ประกาศผลสำเร็จของโครงการนำร่อง :

1.    เพิ่มกำลังการผลิตในโรงสีข้าวได้ 2 เท่า ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ครึ่งหนึ่ง และเพิ่มผลกำไรในโรงสีได้ 20%

2.    ประหยัดต้นทุนพลังงานในการระบายอากาศในโรงเลี้ยงไก่ได้ 23% สำหรับเกษตรกร  ผู้เลี้ยงไก่

3.    ลดต้นทุนเชื้อเพลิงในการอบยางแผ่นรมควันได้ 40% สำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง

•    ประเทศได้ประโยชน์จากการประหยัดไฟฟ้ารวมมากกว่า 21,000 ล้านบาท

    กรุงเทพฯ (4 สิงหาคม 2552) - วันนี้ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ iTAP Big Impact ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สร้างผลกระทบวงกว้างให้กับประเทศ เพื่อมุ่งเพิ่มกำไรให้กับเอสเอ็มอี พร้อมช่วยประหยัดต้นทุนในการใช้พลังงานที่เห็นได้ผลชัดเจนทันที จากการยกระดับเทคโนโลยีในภาคการผลิตหลักที่สำคัญระดับมหภาคของประเทศ ได้แก่ การสีข้าว การเลี้ยงไก่ และการอบยางแผ่นรมควัน
   โครงการ ‘iTAP Big Impact’ (ไอแทป บิ๊ก อิมแพค) ดำเนินงานโดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มรายได้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างเร่งด่วน เห็นผลลัพธ์ได้จริงและชัดเจน รวมทั้งคาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศจากการประหยัดการใช้พลังงานลงได้มากกว่า 21,000 ล้านบาท
    “โครงการ iTAP Big Impact นี้ สามารถสร้างผลกระทบวงกว้างระดับประเทศ และสามารถที่จะวัดประโยชน์ที่ได้รับอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนได้จริงๆ ในทันทีซึ่งเห็นได้จากโครงการนำร่องที่ได้ดำเนินงานมาแล้ว” ดร. คุณหญิงกัลยา กล่าว “ในสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้ฝ่าวิกฤตไปได้ ซึ่งโครงการ iTAP Big Impact จะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้โดยทันที”
    ศ. ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ iTAP และรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact เราได้พัฒนาเทคนิคที่ง่ายต่อการดำเนินงานในการปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และสามารถจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีกับโรงสีข้าวกว่า 43,000 แห่ง ฟาร์มไก่ 64,000 แห่ง และเตาอบยางแผ่นรมควันอีก 660 แห่งทั่วประเทศ”

     ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าวว่า “ด้วยเทคนิควิศวกรรมซึ่งไม่ซับซ้อน เราสามารถเพิ่มกำไร 20% ให้กับเอสเอ็มอีโรงสีข้าวได้ โดยการให้คำปรึกษา ฝึกอบรมทางเทคนิคง่ายๆ แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว เช่น ให้สามารถปรับระยะห่างระหว่างลูกยางกระเทาะข้าวให้ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากเทคนิคที่สามารถทำได้ง่าย และไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร หรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ มาก เราจึงได้เห็นผลสำเร็จในโครงการนำร่องแล้วว่า โรงสีสามารถลดการหักของเมล็ดข้าว เพิ่มคุณภาพผลผลิตได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว”

“นอกจากนี้ โครงการยังมีเทคนิคการปรับตั้งค่าเครื่องจักรให้การสีข้าวให้มีประสิทธิภาพในการสีข้าวเพียงรอบเดียว ไม่ต้องสีซ้ำหลายครั้ง ลดการสิ้นเปลือง ซึ่งจากเดิมจำเป็นต้องมีการสีข้าวซ้ำ เนื่องจากการสีในรอบแรกยังมีข้าวเปลือกเหลือปนอยู่จำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือโรงสีสามารถเพิ่มปริมาณการสีข้าวในแต่ละวันได้ 2 เท่า คิดเป็นกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 6-12 ล้านบาทต่อปีต่อโรง สำหรับโรงสีข้าวที่มีกำลังผลิต 60-120 ตันต่อวัน”  

“ขั้นตอนทางเทคนิคง่ายๆ เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยผู้ประกอบการเพิ่มกำไรได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการสีข้าวได้อย่างชัดเจนถึง 50% แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ จะเกิดประโยชน์ยิ่งกว่าสำหรับประเทศไทยในภาพรวม อีกทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าว

“หากเราได้นำวิธีการเดียวกันนี้ไปใช้กับโรงสีข้าวทั้ง 43,000 แห่งในประเทศไทย เราจะสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้ถึง 21,000 ล้านบาทเลยทีเดียว” ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าว

“จากการที่ประเทศไทยมีเกษตรกรปลูกข้าวอยู่กว่า 3,700,000 ครัวเรือน และสัดส่วนการส่งออกข้าวคิดเป็น 2.2 % ของจีดีพีของประเทศ ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงสีข้าวขึ้น 2 เท่าในทุกๆ โรงสีในประเทศและมีกำไรเพิ่มขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์ตามกลไกตลาด และเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้แน่นอน” ศ.ดร. ชัชนาถ กล่าว
โครงการเทคนิคปรับปรุงกระบวนการสีข้าวได้รับการพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง iTAP และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ. ดร. พนมกร ขวาของ เป็นหัวหน้าโครงการ

ประโยชน์สำหรับชาวสวนยางภายใต้โครงการ iTAP Big Impact
 

รศ. ดร. สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้บริหารผู้ดูแลสายงานโครงการ iTAP และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact เราได้พัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันที่ทันสมัยสำหรับชาวสวนยางซึ่งเป็นเตาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถที่จะลดค่าเชื้อเพลิง (ไม้ฟืนยางพารา) ได้มากกว่า 92,000 บาทต่อเตาต่อปี สำหรับขนาดโรงอบยางรมควันมาตรฐานของสหกรณ์กองทุนสวนยาง”

ดร. สมชาย เปิดเผยว่า “เทคนิคทางวิศวกรรมของเตาอบที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่นี้ช่วยให้นำความร้อนเข้าไปในห้องอบรมควันเร็วขึ้น สามารถควบคุมปริมาณและการกระจายความร้อนได้อย่างทั่วถึงสม่ำเสมอยิ่งขึ้น ส่งผลให้ได้แผ่นยางที่มีคุณภาพดีขึ้น และลดเวลาที่ใช้ในการอบยางแผ่นรมควันลง 25% ในขณะเดียวกัน ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 40%”

“เมื่อคำนวณต้นทุนค่าใช้เชื้อเพลิงและค่าแรงที่สามารถประหยัดลงได้ แล้วบวกรายได้ที่ชาวสวนยางได้รับเพิ่มขึ้นจากยางแผ่นรมควันที่มีคุณภาพสูงขึ้น และปริมาณยางที่อบได้เพิ่มขึ้นแล้ว เตาอบยางแบบใหม่หนึ่งเตาสามารถจะเพิ่มกำไรให้สหกรณ์สวนยางได้ประมาณ ปีละ 165,000 บาทเลยทีเดียว” รศ. ดร. สมชาย กล่าว

“จากการนำเตาอบแบบใหม่ไปใช้นี้ เราคาดว่า จะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะเตาใหม่นี้ช่วยให้อบยางได้เร็วขึ้น ทำให้ชาวสวนยางไม่ต้องกังวัลว่ายางสดจะเสียเพราะอบไม่ทัน และเป็นสาเหตุให้ชาวสวนต้องรีบขายยางสดให้พ่อค้าคนกลางในเวลาที่ราคายางต่ำ” รศ. ดร. สมชาย กล่าว
“จากการที่ประเทศไทยมีโรงอบยางรมควันอยู่ประมาณ 660 โรง โครงการเตาอบยางประหยัดพลังงานนี้จะสามารถจะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศได้อย่างมาก” รศ. ดร. สมชาย กล่าว

ประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact
      

นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการ iTAP กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงเรือนเลี้ยงไก่อยู่ประมาณ 64,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ละโรงเรือนเลี้ยงไก่เฉลี่ยประมาณ 13,000-15,000 ตัว

“เมื่อเทียบกับ พัดลมที่นิยมใช้ในปัจจุบัน พัดลมระบายอากาศที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 23% หรือคิดเป็น 20,000 บาทต่อโรงเรือนต่อปี ซึ่งนอกจากพัดลมแบบใหม่จะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ให้มีกำไรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีศักยภาพที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้กว่า 1,200 ล้านบาท” น.ส. สนธวรรณ กล่าว

น.ส. สนธวรรณ กล่าวว่า พัดลมแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นแบบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และออกแบบได้ไม่เหมาะสำหรับใช้กับโรงเรือนไก่ในประเทศไทย และเสียงของใบพัดที่ดังทำให้ไก่เครียด ซึ่งทีมวิจัยได้ออกแบบพัดลม 3 ใบพัดให้เหมาะกับเมืองไทย แทนที่จะเป็น 6 ใบพัด ทำให้ลดความดังของเสียง และลดความเครียดของไก่ ทำให้ไก่เจริญเติบโตได้ดีขึ้น คุณภาพและน้ำหนักเหมาะสม”

“ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปมูลค่า 51,600 ล้านบาท ดังนั้นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ ย่อมจะส่งผลในเชิงบวกกับเศรษฐกิจมหภาคของประเทศอย่างแน่นอน” น.ส. สนธวรรณ กล่าว

การทำงานร่วมกันกับเครือข่ายต่างๆ ของ iTAP  
 

ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าวว่า

•    โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการสีข้าว พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และโครงการ iTAP

•    โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการอบยางแผ่นรมควัน พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโครงการ iTAP โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย        

•    โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงเรือนเลี้ยงไก่ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และโครงการ iTAP โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท บี. อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด

“ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะแสดงว่าหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของรัฐอย่าง สวทช. สามารถที่จะทำงานประสานกันกับสถาบันการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและระดมทรัพยากรจากภาคเอกชนไปสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของภาคเกษตรกรรมได้โดยตรง” ศ. ดร. ชัชนาถกล่าว

ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการ iTAP มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 350 คน ที่สามารถจะดึงเอาความเชี่ยวชาญของท่านเหล่านั้นมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ นอกจากนี้ iTAP ยังช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งสำหรับค่าผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการสามารถช่วยสนับสนุนได้สูงสุด 500,000 บาทต่อโครงการ

โครงการ iTAP ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีแก่เอสเอ็มอี สำหรับเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้แก่ 02-564 7000 ต่อ iTAP หรือ www.tmc.nstda.or.th/itap


 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป