ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานร่วมและมอบนโยบาการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด ในการประชุมเชิงปฏิบัติการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มท. และ วท. เรื่อง กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายขวัญชัย วงศ์นิติกร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูงผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำจังหวัด ผู้บริหารหน่วยงาน และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพ วันที่ 5 มีนาคม 2553
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ กับ กระทรวงมหาดไทย ที่ร่วมลงนามไว้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันนี้นโยบายรัฐบาลเราจะพูดถึง Creative Economy ซึ่ง Creative Economy จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และจะทำให้ผลิตภัณฑ์ในชุมชนเช่น OTOP SMEs ที่กระจัดกระจาย2,000,000 กว่าแห่งในประเทศไทย สามารถที่จะลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า และแข่งขันได้ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น จึงจะเกิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้ อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทได้เช่นเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อยู่ในฐานะที่มีศักยภาพที่จะขยายผลโครงการของพระองค์ท่านในช่วง 61 ปีที่ทรงครองราชย์ มีโครงการพระราชดำริที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับพันโครงการ
บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านการบริการรวมถึงการเรียนการสอนของเยาวชนของประเทศไทยด้วย ตัวอย่างเช่น ทางด้านอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ผลักดันการวิจัยพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างงาน สร้างเงิน สร้างรายได้ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อย่างหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า ดินสอ หุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ตัวแรกของประเทศไทยที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ สนับสนุนให้บริษัทเอกชนสร้าง และคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะส่งออกหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ตัวนี้ไปยังต่างประเทศ สำหรับใช้ในร้านอาหาร หรือ การดูแลผู้ป่วย และอีกเรื่องขณะนี้กำลังดำเนินการคือ เรื่องส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของประชาชนทางภาคใต้ สร้างรายได้ให้ชุมชนแล้ว ยังเป็นรายได้จากการส่งออกต่างประเทศด้วยเป็นต้น
ด้าน ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงหลังจากมีการลงนามแล้วนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม หรือ คณะกรรมการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งมีการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบาย แนวทางการพัฒนาจังหวัดด้วย วทน. สร้างความเข้าใจกับสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี ทำหน้าที่ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯประจำจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 61 จังหวัดทั่วประเทศ
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 300 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง หัวหน้าสำนักงานจังหวัด คณะกรรมการพัฒนาจังหวัดด้วย วทน. ผู้แทน วท.ประจำจังหวัด เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสื่อมวลชน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ การสร้างความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดด้วย วทน.
![]() |
ด้าน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ กับ กระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ รู้สึกประทับใจและดีใจ ที่ได้มีการร่วมกันทำงานในลักษณะนี้ และมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ประการที่ 1 เป็นการทำงานร่วมกับกระทรวงที่มีทรัพยากรบุคคลด้านการวิจัยพัฒนาและมีผลงานวิจัยและพัฒนาเป็นจำนวนมาก ประการที่ 2 เป็นการนำองค์ความรู้สู่ประชาชน และนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแก้ไขปัญหา การสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างคุนภาพชีวิตให้ดีขึ้น ประการที่ 3 เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างระหว่างจังหวัด กลุ่มจังหวัด กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล กล่าวต่อว่า ความร่วมมือที่มีลักษณะพิเศษทั้ง 3 ประการนี้ มีส่วนช่วยสนับสนุนภารกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขของกระทรวงมหาดไทยให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย เป้าหมายแรก คือ เนื่องจากการนำนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ก่อให้เกิดพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรในชุมชนได้อย่างคุ้มค่า ดังนั้น ในส่วนของจังหวัดซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง อันมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการนี้ต้องขอฝากดูแลและช่วยประสาน เชื่อมโยง หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคท้องถิ่นและภาคประชาชนผ่านโครงการที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดได้อย่างตรงจุด
ด้าน นายขวัญชัย วงศ์นิติกร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการมอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่กำกับดูแลภารกิจด้านบริหารจัดการ ทำหน้าที่ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง มีภารกิจคือส่งเสริม ผลักดัน ประสานเชื่อมโยงงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากเมื่อกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้จะป็นการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ในเรื่องกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้จังหวัดสามารถบริหารงาน แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดโดยใช้กลไกที่มีอยู่ทั้ง คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) และกลุ่มภารกิจต่างๆ ภายใต้ กบจ. โดยยึดหลัก “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับผิดชอบ” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะได้สนับสนุน ส่งเสริม ผลักดัน บูรณาการทรัพยากรร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
เขียนข่าวโดย : นางสาวอุษา ขุนเปีย กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 0 2333 3732
ถ่ายภาพโดย : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 0 2333 3728
ถ่ายภาพโดย : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร. 0 2333 3728