กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน ก.วิทย์ จับมือมหาดไทย...ดึงกลไกการพัฒนาจังหวัด ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ก.วิทย์ จับมือมหาดไทย...ดึงกลไกการพัฒนาจังหวัด ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

พิมพ์ PDF

     (5 มีนาคม 2553 ณ สโมสรกองทัพบก) ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พร้อมด้วยนายชวรัตน์  ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง  เปิดสโมสรกองทัพบก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการหาแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยดึงสถาบันการศึกษาเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีเป็นผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประจำจังหวัด   หวังสร้างงาน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตสนองตอบความต้องการชุมชนทุกระดับ

 

    การประชุมครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า “กระทรวงฯ ได้เริ่มนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้พัฒนาจังหวัดแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้นแบบ ที่สามารถดำเนินการได้ 30 หมู่บ้านในปี 2552 และขยายเพิ่มเป็น 150 หมู่บ้าน ในปี 2553 ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำสู่ชุมชน ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด การใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การสร้างกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ เอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) นำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ SME โดยเน้นภาคการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ อาทิ โรงสีข้าวชุมชน โรงเลี้ยงไก่ โรงอบยางแผ่นรมควัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างน้อย 30%  หรืออีกกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ฯ ในพื้นที่ โดยขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แต่งตั้งผู้แทนจากสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยีที่มีอยู่   61 จังหวัดทั่วประเทศ ให้ทำหน้าที่ในฐานะ ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะเป็นผู้ประสานงาน สร้างความเข้าใจ และขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ลงสู่ท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”

    ด้าน นายชวรัตน์  ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “โดยบทบาทหน้าที่ของกระทรวงฯ จะทำงานในลักษณะบูรณาการเชิงพื้นที่จากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กร สถาบันการศึกษาให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาได้มอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่กำกับดูแลภารกิจด้านบริหารจัดการ ทำหน้าที่ผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง เพื่อผลักดันและเชื่อมโยงงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่แต่มีความท้าทาย ดังนั้น การจัดประชุมในวันนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ทำหน้าที่ผู้บริหารวิทยาศาสตร์ระดับสูง สามารถนำวิทยาศาสตร์ฯ ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยยึดหลัก ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาและร่วมรับผิดชอบ  โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ”

       รมว.มหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ตนเองรู้สึกประทับใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานซึ่งมีลักษณะพิเศษแบบนี้ กล่าวคือ ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงที่มีทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญด้านวิจัยพัฒนา ที่มุ่งเน้นสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในท้องถิ่น และที่สำคัญเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัด /กลุ่มจังหวัด และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เรียกได้ว่าบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง จึงอยากให้โครงการความร่วมมือในลักษณะนี้ มีความก้าวหน้าและกลายเป็นวัฒนธรรมของพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในที่สุด”

       สำหรับวัตถุประสงค์ของการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จัดขึ้นในวันนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก ดร.สุจินดา  โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ว่า “เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้ง 2 กระทรวง ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด โดยมีจังหวัดนำร่องที่จะร่วมดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาด้าน วทน.และเครือข่ายการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง จังหวัด และการมีส่วนร่วมระหว่างภาคีต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเครือข่ายคลินิกฯ ที่มีอยู่ 61 จังหวัด และจะแสวงหาเครือข่ายเพิ่มเติมในอนาคต” 
 

******************************

ข่าวโดย: เทียรทอง ใจสำราญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการ สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป