กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน เทคโนโลยีรหัสแท่งสองมิติกับมาตรฐานภาษาไทย (QR Code)

เทคโนโลยีรหัสแท่งสองมิติกับมาตรฐานภาษาไทย (QR Code)

พิมพ์ PDF


 

     ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเทคโนโลยีรหัสแท่งสองมิติกับมาตรฐานภาษาไทย (QR Code) โดยการพัฒนาร่วมกันของเนคเทค กับ CICC ภายใต้การสนับสนุนจากเด็นโซ่เวฟและซาโต้ เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการต่างๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 2 (สวทช.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2553
 


     ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯ กล่าวว่า QR Code เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เช่น ในนิตยสารจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามที่อยู่ที่ระบุใน QR Code ทำให้แสดงข้อมูลได้มากขึ้นบนพื้นที่ที่จำกัด การใส่ QR Code บนฉลากสินค้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถสื่อข้อมูลที่มากกว่ารหัสสินค้า เพื่อประโยชน์ด้านการตลาด หรือแม้กระทั่งบนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ QR Code ช่วยระบุวิธีการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้โทรศัพท์มือถือหลายรุ่นสามารถใช้อ่าน QR Code ได้ ทำให้สามารถอ่านข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกอยู่ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 


     ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่คิดค้นเทคโนโลยีนี้ มีการใช้ QR Code กันอย่างแพร่หลาย ทั้งด้านการบริหารจัดการ เช่น การใช้บันทึกข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองให้มีความแม่นยำและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้านการตลาดและการค้า ใช้ QR Code เพื่อเป็นคูปองส่วนลดในการใช้สินค้าและบริการ รวมทั้งด้านการบริการสาธารณสุข ใช้ระบุข้อมูลคนไข้ในโรงพยาบาลลดข้อผิดพลาดในการรักษา ซึ่งจุดเด่นของ QR Code คือใช้บันทึกข้อมูลได้มากกว่าบาร์โค้ดแบบปกติ ขนาดเล็ก ราคาถูก และยังเป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดโดย ISO และ IEC อีกด้วย
 


     นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังเล็งเห็นว่าการพัฒนามาตรฐานการใช้ภาษาไทยกับ QR Code จะสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะเป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่สำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่อไป
 


     ด้าน ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล  รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีรหัสแท่งสองมิติแบบ QR Code  และกิจกรรมการพัฒนามาตรฐานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ภาษาไทยกับ QR Code ด้วยคุณลักษณะที่เป็นประโยชน์ของเทคโนโลยีบาร์โค้ดสองมิตินี้ ทำให้มีผู้ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีการทำเป็นมาตรฐานขึ้น ที่นิยมใช้กันมากโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น คือมาตรฐาน ISO/IEC 18004 หรือมาตรฐาน QR Code (ย่อมาจากคำว่า Quick Response Code) ประเทศไทยนำมาตรฐานนี้มาใช้กันมากขึ้น ในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ ทั้งในสายการผลิต หรือระบบจัดการคลังสินค้า ตลอดจนการตลาดในระดับผู้บริโภคทั่วไปในโฆษณาตามสื่อต่างๆ
 


     ด้าน Mr.Kunitaka Hashizume ตำแหน่ง Executive Director CICC (Center of the International Cooperation for Computerization) กล่าวว่า QR Code ถือเป็นเทคโนโลยีการรับรู้แบบอัติโนมัติ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย จากมาตรฐานดังกล่าวจะสามารถเห็นถึงประสิทธิผลได้เมื่อเริ่มใช้ และจะนำมาซึ่งประโยชน์และความสะดวกทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการใช้ QR Code ซึ่งเป็นมาตรฐานของญี่ปุ่นจะถูกแพร่หลายในประเทศไทยพร้อมกับการร่วมมือกันในเรื่องของไอที

 

ผู้เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

                    กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

                    โทร. 0 2333 3732

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป