ปฏิทินวิทยาศาสตร์ 2553
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.
ปฏิทิน คือสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่งที่นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ในแง่ของการดูวันเดือนปีแล้ว ภาพบนแผ่นปฏิทินก็ยังให้ประโยชน์ด้านการสื่อสารที่ให้สาระความรู้อีกด้วย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. จึงได้สำรวจปฏิทินที่จัดทำโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ซึ่งมีความน่าสนใจในแง่การสื่อความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เราลองไปดูกัน ว่าในปี พ.ศ. 2553 นี้ ปฏิทินวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไรกันบ้าง
เริ่มจาก สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีนี้ภาพที่นำเสนออาจไม่ได้โดดเด่นนัก เพราะเป็นภาพเล็กๆ เกี่ยวกับกิจกรรม หรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ หรือผลผลิตจากงานวิจัยเด่นของหน่วยงานในสังกัด วท. โดยแสดงไว้ที่มุมด้านล่างของแผ่นปฏิทิน ส่วนพื้นที่ส่วนใหญ่ของหน้าปฏิทินจะแสดงข้อความพระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่กลุ่มบุคคลคณะต่างๆ ในโอกาสต่างๆ กันไป
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) นำเสนอเรื่องราวของเมฆชนิดต่างๆ โดยเป็นภาพที่ถ่ายเมฆคู่เคียงกับตึก อาคาร และรถคาราวานวิทยาศาสตร์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ รวมทั้งภาพอันสวยงามและปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาชมไม่ได้ง่ายนัก นั่นก็คือ ปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดแบบวงรี ปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลด (วงกลม) เหนือตึกลูกเต๋า อพวช.ที่มีรัศมีเล็กๆ ของแสงอยู่วงในรอบดวงอาทิตย์ด้วย และอีกภาพก็คือ ภาพการเกิดรุ้งท่ามกลางกลุ่มหมอกยามเช้า เป็นต้น
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.นำเสนอภาพที่ชนะรางวัลในการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ประจำปี 2552 ชื่อหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” ซึ่งจัดโดย สดร.โดยแบ่งภาพการประกวดออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ 1.ประเภท Deep sky objects 2.ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ 3.ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ 4.ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เห็นภาพที่นำมาทำปฏิทินแล้ว ก็ต้องบอกว่าทึ่งในฝีมือคนไทยเราทีเดียวที่ถ่ายได้เทียบเคียงไม่แพ้นักถ่ายภาพของเมืองนอก ตัวอย่างภาพที่ชนะเลิศการประกวดในแต่ละประเภทได้แก่ ภาพ M-51 “Whirlpool Galaxy”, ภาพดวงจันทร์บังดาวเสาร์, ภาพ Venus Transit 2004, และภาพภูชี้ฟ้าใต้พระจันทร์ ตามลำดับ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ทำปฏิทินความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แบบแขวนขนาดยักษ์ คือขนาดเทียบเท่ากระดาษหน้าหนังสือพิมพ์คู่หนึ่งเมื่อกางออกมา โดยมีเป้าหมายเพื่อแจกให้สถานศึกษาต่างๆ นำปฏิทินนี้ไปติดเป็นโปสเตอร์นิทรรศการเพื่อให้ความรู้ได้เลย หลังจากที่ใช้งานเป็นปฏิทินแขวนตามปกติแล้ว
สำหรับปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีแห่งการคิดค้นและประดิษฐ์เลเซอร์ เนคเทคจึงนำเอาเหตุการณ์สำคัญนี้มาเสนอเป็นภาพปฏิทิน เนื้อหาโดยรวมของปฏิทินก็เป็นการกล่าวถึงประวัติการคิดค้น และพัฒนาการของเลเซอร์ นั่นเอง แต่ต้องบอกว่าทั้งภาพและเนื้อหาสมบูรณ์มาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ปฏิทินเนคเทค “50 ปี เทคโนโลยีเลเซอร์” นี้ จะได้รับรางวัล “สุริยศศิธร” จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย โดยได้รางวัลชนะเลิศปฏิทินชนิดแขวนดีเด่น ประเภททั่วไปมาครองด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปโหลดภาพปฏิทินนี้ได้ซึ่งก็จะมีภาพปฏิทินของปีย้อนหลังด้วยเช่นเรื่อง พลังงาน และโลกร้อน เป็นต้น โดยเข้าไปโหลดได้ที่เว็บไซต์http://www.nectec.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=80&Itemid=195
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สวทช. ปีนี้ทำปฏิทินแขวนกึ่งสมุดบันทึก รูปเล่มขนาด A4 นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานวิจัยเด่นของเอ็มเทค เช่น ฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอคทีฟยืดอายุผักและผลไม้สด ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หม้อก๋วยเตี๋ยวอนามัยไร้สารตะกั่ว ต้นแบบรถเกราะกันกระสุนติดรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กทางทหาร เป็นต้น
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ปฏิทินปีนี้นำเสนอภาพและเรื่องราวของพรรณไม้ในวงค์จำปา ซึ่งมีการค้นพบและได้รับการจำแนกว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ มหาพรหมราชินี จำปีสิรินธร จำปีศรีเมืองไทย จำปีช้าง อนุพรหม ปาหนันเมืองกาญจน์ ปาหนันแม่วงก์ ปาหนันร่องกล้า บุหรงช้าง และบุหรงดอกทู่ นอกจากนี้ก็เป็นพรรณไม้ที่มีการค้นพบเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ได้แก่ จำปีเพชร และจำปีดอย พรรณไม้เหล่านี้หลายชนิดเป็นพรรณไม้หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งทางนักวิจัย วว.เองก็พยายามค้นคว้าและวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ให้ได้มากขึ้น และนักวิจัยที่เป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งสำรวจค้นคว้าและวิจัยเรื่องนี้มาโดยตลอดก็คือ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น พร้อมกับทีมงาน
ปิดท้ายด้วยปฏิทินภาพจากดาวเทียมธีออส 2553 จาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดยนำเสนอภาพสถานที่สำคัญต่างๆ ของต่างประเทศ เช่น พีระมิดกิซ่า อียิปต์, บริเวณโรงอุปรากรซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย, ภูเขาไฟฟูจิ ญี่ปุ่น, เป็นต้น โดยมีของไทยแทรกเข้ามาภาพเดียวคือ พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ดูโดยรวมแล้ว ภาพจากปฏิทินของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปีนี้ ก็ยังมีคุณค่าเช่นเคย ช่วยให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ผ่านสื่อปฏิทินได้ และแน่นอนว่า ทุกครั้ง ทุกวัน ที่เราเปิดแผ่นปฏิทิน หากได้มอง สังเกต และอ่านคำบรรยายสั้นๆ สักนิด ปฏิทินก็จะได้ทำหน้าที่ของมันอย่างครบถ้วน ช่วยตอกย้ำ เตือนความจำ และเสริมความรู้ให้เราได้เสมอ
ผู้เผยแพร่ : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี