ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด (ครั้งที่ 2): สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน) พร้อมเปิดนิทรรศการแสดงผลงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน) โดยมี นายชุมพร แสงมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมในพิธี ณ อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติดิเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส โฮเต็ล จ.เชียงใหม่ (เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553)
ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 6 แล้ว มีผลการดำเนินงานที่นำไปสู่การสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต มากมายหลายเรื่อง ที่เขียนไว้ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เป็นการจัดครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณนี้ ครั้งแรกเราจัดที่จังหวัดกาญจนบุรี ครั้งต่อไปจะไปจัดที่จังหวัดสงขลา เราจัดได้ประมาณปีละ 4 ครั้ง แต่เราก็ได้สร้างช่องทางที่จะให้ท่านติดต่อกับเราได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นที่จะติดต่อกับเราช่วงจัดการสัมมนาและการรับฟังความคิดเห็นเป็นกลุ่มๆ แต่การดำเนินการในปีนี้ ดิฉันคิดว่าเราจะมีความก้าวหน้าและความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น เราได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด และจะมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นผู้บริหารจังหวัดระดับสูง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ส่งรายชื่อทั้ง 75 จังหวัดมาให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว คิดว่าจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น เพราะมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดมาช่วยอีกแรงหนึ่ง จากที่เราได้มีความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย คิดว่านอกจากจะได้ทำงานเป็นรายโครงการเหมือนอย่างที่เราทำรายกิจกรรมกับจังหวัดที่ต่อเนื่องกันมาตลอด เราคาดหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแผนพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นทั้ง 75 จังหวัด อาจจะเป็นจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัดก่อนในจังหวัดที่มีความพร้อมและมีความสนใจที่จะดำเนินการร่วมกันกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในจุดนี้จะทำให้เกิดการทำงานที่เป็นโครงการที่ใหญ่ๆ กว่าเดิมได้ อาจจะผลักดันไปสู่การขอตั้งงบประมาณร่วมกันต่อไป
ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้วางรูปแบบแนวทางที่จะดำเนินงานร่วมกับทางจังหวัดเอาไว้แล้ว และคิดว่าเราจะเชิญประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับกระทรวงมหาดไทย และรองผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานในเรื่องของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสนับสนุนงานของจังหวัด กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นนโยบายของกระทรวง เราตั้งมา 30 ปีแล้ว และคิดว่าเรามีองค์ความรู้และมีเครือข่ายการทำงานที่จะให้บริการกับชุมชนและให้บริการกับจังหวัดในหลายๆ ด้านได้ ส่วนของนิทรรศการที่เราแสดงอยู่ด้านนอก เป็นเพียงผลงานบางส่วนที่เรานำมาแสดงได้เท่านั้น ปกติไปแสดงจังหวัดต่างๆ เราจัดแสดงได้น้อยกว่าที่นี่ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด แต่ที่นี่มีพื้นที่มากเราก็ได้นำมาแสดงมาก แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ด้าน นายศิริชัย เขียนมีสุข รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวสู่จุดแห่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่เน้นการผลิตและการบริการบนรากฐานของเศรษฐกิจฐานความรู้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้ตระหนักถึงบทบาทในการสร้างปัญญาในสังคม เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2547-2552 ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เห็นถึงความสำคัญ ในการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยสนับสนุนจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ที่มีทั้งทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ และมีศักยภาพเป็นทุนอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และพัฒนากระบวนการผลิต อันนำไปสู่ประโยชน์สูงสุด ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้อย่างยั่งยืนมาโดยตลอด
ในการนี้ เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือ ในการทำงานเชิงบูรณาการกับกระทรวง มหาดไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินงาน “การพัฒนาจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้พัฒนาจังหวัด และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ให้กับประชาชนในจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวง มหาดไทยได้มอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารจัดการ เป็นผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง (Provincial Chief Science Officer : PCSO) และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบหมายสถาบันการศึกษาที่เป็นคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายในแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ของจังหวัด และประสานการดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารวิทยาศาสตร์จังหวัดระดับสูง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เพื่อหารูปแบบ (model) ที่เหมาะสม ในการดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชนของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ , แม่ฮ่องสอน , ลำปาง , ลำพูน) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้งนี้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จะมีการเสวนา ถึงความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้การสนับสนุนจังหวัด ในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของผลผลิต สินค้าและบริการ รวมทั้งการแก้ปัญหาในการผลิต เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน เพื่อให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด รวมทั้งเกิดแนวคิดที่จะนำเสนอในที่ประชุมกลุ่มย่อยในช่วงบ่ายนี้ เพื่อให้ได้รูปแบบ (model) การดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่นและจังหวัด รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนา จังหวัด/กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และเกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมทั้งสาธิตการแปรรูปอหารจากผลไม้ในท้องถิ่น อาทิ การทำแย้มลำไย แย้มสตรอเบอรี่ และขนมทองม้วนจากสตรอเบอรี่ และนิทรรศการคลินิกเทคโนโลยีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงนิทรรศการการผลิตก๊าซชีวภาพเป็นแหล่งพลังงานทดแทนในระดับครัวเรือน โดยใช้ถุงหมักพีวีซี , อุปกรณ์ประกอบการบำบัดอาการ เช่น การตอกเส้น การนวด การย่ำขาง เผายา , ผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร เช่น แชมพู สบู่เหลว น้ำยาเอนกประสงค์ และสมุนไพรประจำบ้าน เช่น ยาดม ยาหอม ยาหม่อง น้ำมันนวด ลูกประคบ ยาบรรจุแคปซูล (มะรูม, ฟ้าทะลายโจร) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แสดงนิทรรศการการพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภคของชุมชน , ความรู้เรื่องน้ำและสารกรองน้ำ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและบำรุงรักษาระบบกรอง , ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพน้ำ , เทคนิคการบำบัดน้ำในแต่ละประเภท , การปลูกพืชผักในระบบไม่ใช้ดิน , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ แสดงนิทรรศการการสาธิตการย้อมขนแกะด้วยสีธรรมชาติ , การสาธิตการออกแบบลายผ้าทอด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมการทอบนกี่กึ่งอัตโนมัติ , การแสดงผลงานของกลุ่มทอผ้าบ้านสันปูเลย (โครงการ อสวท. ปี 2551) , การแสดงผลงานของกลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มปลอดภัย (โครงการคลินิกเทคโนโลยี ปี 2552), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง แสดงนิทรรศการชาชงสมุนไพรผักเซียงดา , ลูกประคบสมุนไพร , ผลิตภัณฑ์อาหารจากผลิตผลการเกษตร เช่น ไวน์มะเกี่ยง น้ำผลไม้พร้อมดื่ม อาหารบรรจุกระป๋อง เป็นต้น , ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ ข้าวกล้องงอก หมูเส้น กล้วยทุบ (บริการให้คำปรึกษาเรื่องบรรจุภัณฑ์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สถาบันวิจัยและฝึกอบรม การเกษตรลำปาง แสดงนิทรรศการการจัดการศัตรูพืชปลอดภัย: สารสกัดจากพืชสมุนไพรกำจัดแมลง จุลินทรีย์ป้องกันกำจัด , โรคพืช จุลินทรีย์กำจัดแมลง และแมลงศัตรูธรรมชาติ การสาธิตการผลิตเชื้อไตรโคเดอร์ม่า , ไวเรนส์อย่างง่ายและประหยัด , การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากผลิตผลการเกษตร , เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทางการค้า , เทคโนโลยีการจัดการไม้ผลและพืชผัก : เทคนิคการจัดการธาตุอาหาร ชุดจ่ายปุ๋ยแบบง่าย , และประหยัด ผลิตภัณฑ์ผักปลอดสารพิษ
ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร โทร. 0-2354-4466 ต่อ 118
โทรสาร 02-354-3763 E-Mail :
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
ถ่ายภาพโดย : น.ส.สุนิสา ภาคเพียร โทร. 0-2354-4466 ต่อ 199