กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วิทย์ฯ เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านยางพารา อาหารฮาลาล และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้

รมว.วิทย์ฯ เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านยางพารา อาหารฮาลาล และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้

พิมพ์ PDF

     ดร.คุณหญิงกัลยาโสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านยางพารา อาหารฮาลาล และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553

     ดร.คุณหญิงกัลยาโสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมที่จะจับมือกับท่านทำวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศไทย แล้วเราสามารถที่จะแข็งขันได้ภายใน 6 ปีดิฉันคิดว่าถ้าเราทำอย่างนี้  เราพร้อมที่จะออกไปสู่อาเซียนและพร้อมที่จะเป็นผู้นำของอาเซียนในบาง sectorเช่นเรื่องอาหาร  ดิฉันไปประชุมรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียนเมื่อปลายปีที่แล้ว  เราได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำทางด้าน Funtional Food หมายถืง อาหารสุขภาพ เราทราบดีว่าประเทศไทยเราได้เปรียบกว่าประเทศอื่นที่เรามีผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะภาคใต้ และเรามีนักวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และของมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถที่จะสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้ และเราเชื่อว่าเราสามารถที่จะนำอาเซียนได้ นำโลกได้ ดังคำพูดที่ว่า  “เราจะเป็นโลกครัวของโลกได้” เราส่งข้าวออกเป็นที่หนึ่งของโลกอยู่แล้ว เราเป็น 1ใน 6 ของโลกที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก เราอุดมสมบูรณ์เราได้เปรียบ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมหาศาล  แต่เรายังไม่ได้เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง ขณะนี้มีนักวิจัยทางด้านความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์อยู่จำนวนไม่น้อย อาหารต้องอาศัยทรัพยากรและความรู้ที่เรามีอยู่เช่นเดียวกัน เราจึงคิดว่าเราสามารถนำประเทศอื่นๆ ได้ในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารฮาลาล ดิฉันชอบคำหนึ่งที่ว่า “ศาสนารับรอง  วิทยาศาสตร์รองรับ” ให้เป็นมาตรฐานระดับสากลสามารถส่งนอกได้ 180 กว่าประเทศ  เป็นจุดเป้าหมายอีกอันหนึ่ง  ทั้งยาง  ฮาลาลและปาล์ม เป็น 3 เรื่องที่เราอยากจะเน้นเป็นกรณีพิเศษภายในปีนี้  ถ้ามีผลิตผล ผลิตภัณฑ์ออกมาได้เป็นรูปธรรม  ซึ่งจะสามารถเรียกความมั่นใจจากเอกชนและรัฐบาล  เราจะสามารถของบประมาณได้ นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะผลักดันให้งบประมาณทางด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศ จากขณะนี้ 0.25 ของ GDP เป็น 1% ถ้าเรานักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และเอกชนร่วมมือกันได้มากเท่าไหร่ 1% ก็ไม่ไกลเกินเอื้อ

     แนวทางในการเพิ่มมูลค่าและทำให้สินค้าแข่งขันได้ในตลาดโลกเรามีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว  ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และวิทยาเขตทั้ง 5 แห่ง จะมีบุคลากรที่ทำวิจัยทางด้านนี้  ครั้งนี้เราจะจับมือกันร่วมกันพัฒนาทรัพย์ในดินสินในน้ำของจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะที่สงขลาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เชื่อว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะเพิ่มขีดความสามารถโดยมุ่งเน้น 3 ชนิดก่อนและทำให้เกิดรูปธรรมอย่างรวดเร็ว จะทำให้คนมีงานทำ มีผลิตผลที่จะทำให้ขายได้แข่งขันได้เชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องจะได้ผลประโยชน์จากการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาลงในพื้นที่

     ด้าน รศ.ดร.พีระพงศ์  ทีฆสกุล  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 1 ใน 9 แห่ง  กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้ประชาชนในภาคใต้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  เน้นการสนับสนุนครบวงจรและการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและเชิงพาณิชย์  การวิจัยและเพิ่มมูลค่ายางพารา ซึ่งส่งเป็นสินค้าส่งออกของประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ของโลกจำนวนประมาณ 3 ล้านตัน หรือประมาณ 30% ผลผลิตยางธรรมชาติของทั้งโลก คิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 3 แสนล้านบาท  ยางส่วนใหญ่เกือบ 90% จะถูกส่งออกขายต่างประเทศในรูปของวัตถุดิบ เช่น ยางแผ่นรมควัน  ยางแท่ง  และน้ำยางข้น  ส่วนอีกประมาณ 10% จะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม  การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางและคุณภาพยาง  ทั้งน้ำยางสด  ยางก้นถ้วย  ยางแผ่นดิบ  และยางแผ่นรมควันเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพป้อนโรงงานอุตสาหกรรม  พัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปยาง  ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง  ซึ่งการวิจัยเพื่อพัฒนามูลค่ายางพาราโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ พันธุกรรมยางพารา การเพาะปลูกต้นยาง  การบำรุงและการเก็บเกี่ยวผลผลิต  กลางน้ำ ได้แก่ การแปรรูปเบื้องต้น  วิศวกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าน้ำและเนื้อไม้ยางพารา  ปลายน้ำได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ารูปแบบต่างๆ  โดยการสนับสนุนเศรษฐศาสตร์ของตลาดยางพารา  และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร  การจัดการสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมยางพารา  ระบบลอจิสติกส์ยางพารา  และการสร้างความเข้มแข็งการผลิตยางพาราของชาวสวนยาง  มีผลงานเด่น อาทิ สารสกัดและครีมหน้าใสยางพารา  โดย รศ.ดร.รพีพรรรณ  วิฑิตสุวรรณกุล คณะวิทยาศาสตร์  ชุดน้ำยาทดสอบ TMTD Easy kit, ZnO Easy kit โดย ดร.วิไลรัตน์  ชีวเศรษฐธรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ผิวหนังเทียมหุ่นตรวจสอบมะเร็งเต้านม  ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม (แผ่นเสริมหน้าอก)  โดย ดร.วิรัช  ทวีปรีชา  คณะวิทยาศาสตร์ แผ่นยางพาราปูพื้นเพื่อลดการบาดเจ็บ หมอนรองศีรษะจากพอลีรีเทนเจลและยางพาราป้องกันแผลกดทับจากการผ่าตัด  โดย พญ.นลินี  โกวิทวนาพงษ์  และคณะ  คณะแพทยศาสตร์  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์  และระบบกรีดยางแบบ 2 รอยกรีดสลับหน้าต่างระดับ โดย รศ.ดร.สายัณห์  สดุดี  และคณะ  คณะทรัพยากรธรรมชาติ  ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา คือการขาดแรงจูงใจในการใช้นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผลผลิตยางพารามีราคาสูง  และขาดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานวิจัย (ควรอาศัยกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์)  และขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น (เครื่องจักรอุปกรณ์ในขั้นผลิตทดลอง) 
 

     ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล  ฮาลาลไม่ใช่อาหารเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงเสื้อผ้าด้วย  ฮาลาลเป็นการผลิต การให้บริการหรือการจำหน่ายใดๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา  ซึ่งอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้  มีความปลอดภัยจากสิ่งต้องห้ามทางศาสนา (ฮารอม) และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ  กรณีเนื้อสัตว์ต้องได้รับการเชือดจากวิธีการที่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม และการทำความสะอาดถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม  สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายวิจัยฮาลาลและผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ด้วยฮาลาล  ส่งเสริมการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านฮาลาล  เป็นแหล่งบริการทางวิชาการในการให้ความรู้และพัฒนาด้านการแปรรูปอาหารและสินค้า รวมทั้งการบริการตามมาตรฐานฮาลาลและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ต้องการลงทุนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับกิจกรรมฮาลาล ส่งเสริมและสร้างแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผลกระทบโดยก่อให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมและผลักดันการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของผู้ประกอบการในระดับอุตสาหกรรม  ชุมชน  วิสาหกิจชุมชน  ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้รับการยกระดับการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP, HACCP-HALAL  ส่งเสริมให้หน่วยงานและระบบการให้การรับรองมาตรฐานฮาลาลมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในระดับสากลและในโลกมุสลิม ส่งเสริมและสร้างแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมอาหาร  สินค้า และบริการด้านฮาลาลในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้  สร้างความมั่นใจให้กับผู้ต้องการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาล  ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอาหาร  สินค้า และบริการด้านฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  และหน่วยงานที่ให้บริการให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

 

ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์  ป้องสุธาธาร  กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร.02 3454466 ต่อ 118
ถ่ายภาพโดย : น.ส.สุนิสา  ภาคเพียร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์  โทร.02 3454466 ต่อ 199

 

 

 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป