กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาษาไทยEnglish
หน้าหลัก ข่าวสารหน่วยงาน รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เยี่ยมสถาบันฯ แสงซินโครตรอน และโรงไฟฟ้าชีวมวล

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เยี่ยมสถาบันฯ แสงซินโครตรอน และโรงไฟฟ้าชีวมวล

พิมพ์ PDF

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวง และสื่อมวลชน เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พร้อมเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าชีวมวลเฉลิมพระเกียรติฯ และโรงปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี    จ.นครราชสีมา 
 

 

 

 

 

 

 

            โดยนายวีระพงษ์  แพสุวรรณ    รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ ได้รายงานถึงสถานภาพเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนว่า เครื่องที่มีอยู่นับเป็นเครื่องที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถกับเก็บอิเล็กตรอนในวงแหวนให้โคจรเป็นวงกลมที่ระดับพลังงาน 1.2 กิกะอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) นาน 12 ชั่วโมง โดยความเข้มของแสงซินโครตรอนมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 20,000 เท่า ปัจจุบันมีสถานีลำเลียงแสง 3 สถานี ได้แก่ สถานี PES (Photo Emission Spectroscopy) ใช้ประโยชน์ในการดูพฤติกรรมของอิเล็กตรอน สถานี XAS (X-ray Absorption Spectroscopy))  ใช้ประโยชน์ในการจำแนกชนิดของธาตุ รวมทั้งชนิดของประจุธาตุนั้นๆ ได้ และสถานี X-ray Lithography ซึ่งใช้ประโยชน์รังสีเอ็กซ์ (Soft X-ray) เพื่อสร้างวัสดุขนาดจิ๋ว  และขณะนี้กำลังก่อสร้างอีก 3 สถานี  ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ เตรียมแผนพัฒนาศักยภาพของเครื่องกำเนินแสงซินโครตรอน ในปี 2552 โดยเตรียมพัฒนาระบบลำเลียงแสงให้มีความเข้มสูงขึ้น 2,000 เท่า และระบบผลิตลำแสงที่มีพลังงานสูงขึ้นจะมีความยาวคลื่นสั้นลง ทั้งนี้รองรับระบบลำเลียงแสงได้ 8 สถานี

            ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ตนเองคุ้นเคยกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นอย่างดี เมื่อหลายปีก่อนที่ยังศึกษาได้ทำศึกษาวิจัยในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเมื่อฟังจากรายงานเห็นได้ว่างานวิจัยของสถาบันฯ ก้าวหน้าไปมากในช่วงเวลา 12 ปี  คิดว่าจะพยายามผลักดันงบพัฒนาด้าน ว และ ท ให้เพิ่มขึ้น เพื่อจะนำมาพัฒนาโครงการของสถาบันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

            ในโอกาสเดียวกันนี้  รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศึกษาการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าชีวมวลเฉลิมพระเกียรติฯ  และโรงปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ณ ฟาร์มของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  เพื่อพิจารณาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับนำไปปรับใช้กับโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กำลังเร่งดำเนินการให้สำเร็จตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้  ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลของมหาวิทยาลัยฯ มีขนาดกำลังการผลิต 200 กิโลวัตต์ สามารถใช้ได้กับชุมชนขนาด 200-400 ครัวเรือน เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลครบวงจร กล่าวคือ ทางมหาวิทยาลัยส่งเสริมให้มีการปลูกกระถินยักษ์เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เศษวัสดุเหลือใช้สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล  เช่น  ถ่านอัดแท่ง  การทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ   ดังนั้น นอกจากชุมชนจะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูกแล้ว ยังมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงชีวมวล ปุ๋ยอินทรีย์และการปลูกกระถินยักษ์ขายได้อีกด้วย  จึงถือได้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นต้นแบบโครงการธุรกิจชุมชนที่ครบวงจรที่สามารถสร้างงาน รายได้ และคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี และหลังจากเยี่ยมชมกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ดร.คุณหญิงกัลยา  โสภณพนิช ได้เดินทางไปดูสถานที่สำหรับจัดตั้งหอดูดาวภูมิภาค พร้อมปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกในบริเวณดังกล่าว  ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


 

 
หน่วยงานในสังกัดกระทรวง
สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป