ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานงานแถลงข่าว “นกเงือกจะสูญพันธ์หรือไม่ งานวิจัยพันธุกรรมนกเงือก จะมีส่วนช่วยอนุรักษ์นกเงือกได้อย่างไร” โดยมี รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.ดรพิไล พูลสวัสดิ์ และคณะวิจัย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 22 มกราคม 2553
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่นักวิทยาศาสตร์เห็นถึงความสำคัญในการศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรม และสภาพทางนิเวศถิ่นอาศัยของประชากรนกเงือก เนื่องจากว่านกเงือกเป็นสัตว์ที่มีบทบาทเด่นเป็นอย่างมากในระบบนิเวศป่า คือ เป็นตัวช่วยกระจายพันธุ์ไม้ (Seed disperser ) ที่ช่วยรักษาความหลากหลายของของพืช ซึ่งในปัจจุบันประชากรนกเงือกมีจำนวนลดลง จนน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยด้านความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ไม่เพียงแต่นกเงือกเท่านั้นยังรวมไปถึง พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ตลอดจนการจัดการ และการฟื้นฟูทรัพยากร เป็นต้น
รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างกว้างขวางและปราศจากแบบแผนที่ถูกต้อง ทำให้สิ่งมีชิวิตต่างๆในโลกนี้เกิดภัยคุกคาม สัตว์ต่างๆ หลายชนิดได้สูญพันธ์ ประชาคมโลกได้พยายามอย่างมากที่จะอนุรักษ์และจัดการกับทรัพยากรชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ สัตว์ป่า และระบบนิเวศน์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นทุนทาง
ทั้งนี้ จากการบูรณาการของโครงการวิจัย ตั้งแต่การนำเทคนิคหรือเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์จนก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ไปสู่การฝึกอบรมชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่ ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ และคณะ ได้ขยายผลให้เกิดโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับนกเงือกอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โครงการปรับปรุงรังนก โครงการสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟูนกเงือกและถิ่นอาศัยอย่างเป็นระบบต่อไป
ด้าน ศ.ดรพิไล พูลสวัสดิ์ กล่าวถึงโครงการอนุรักษ์นกเงือกกับชุมชนว่า ที่บูโด-สุไหงปาดี แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก แก้ปัญหาเร่งด่วน เป้าหมายก็คือ เพิ่มประชากรของนกเงือกให้ได้ หยุดการล่าโดยการเข้าไปคุยกับพราน ขอความร่วมมือและฝึกชาวบ้านให้เป็นผู้ช่วยวิจัย ซึ่งได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดี ผลจากความร่วมมือ คือได้รับข้อมูลมากมาย อย่างเช่น การทำรัง ตำแหน่งของรังซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างมาก และเนื่องจากต้นไม้ถูกตัดไปมากจึงได้ร่วมกับภาควิชาออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากรติดตั้งกรงเทียม ปัจจุบันนกเงือกได้ใช้กรงเทียมกว่า 20 % ระยะที่ 2 คือ การแก้ปัญหาระยะยาว เป้าหมาย คือ การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เราต้องเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของชาวบ้าน เปลี่ยนจากหมู่บ้านที่ล่านกเงือกส่งขายเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์นกเงือก และขั้นตอนที่สำคัญคือถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชนโดยเรามีค่ายเยาวชนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับนกเงือกและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการปีละ 500 คน
ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ผลจากการดำเนินโครงการที่ได้รับทุนการวิจัย 5 ปี ปรากฏว่า ที่เขาใหญ่ได้ลูกนกเงือกถึง 500 ตัว ที่ห้วยเขาแข้ง 230 ตัว คิดเป็น 62 % ที่บูโด-สุไหงปาดี 200 ตัว คิดเป็น 45 % นอกจากนี้งานวิจัยภายใต้โครงการนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการวิจัยอื่นๆ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
ผู้เขียนข่าว : นางสาวอุษา ขุนเปีย กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร 0 2354 4466 ต่อ 120
ถ่ายภาพโดย : นางสาวสุนิสา ภาคเพียร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร 0 2354 4466 ต่อ 199