กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัด “การประกวดนิทรรศการเสมือน อพวช. ประจำปี 2552 (NSM Virtual Exhibition Award 2009)” เพื่อส่งเสริมการนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แปลกใหม่ในรูปแบบนิทรรศการอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาทักษะการผลิตสื่อดิจิตอลให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษา
7 มกราคม 2553 : ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลนิทรรศการเสมือน อพวช. ประจำปี 2552 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนและเยาวชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ และมีอีกหลายเรื่องเป็นคำถามที่ประชาชนสนใจอยากทราบ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สามารถนำเสนอเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่บางครั้งดูเหมือนยากและซับซ้อน ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ดูน่าสนใจ ชวนติดตาม ทำให้เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน ถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ในด้านการสื่อเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ไปสู่สังคม นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เรียนรู้ได้ในทุกเวลา จากสถานที่ใดก็ได้ สื่อดิจิตอลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์จึงถือเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่คนจำนวนมาก ดังที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พยายามทำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบ “การประกวดนิทรรศการเสมือน อพวช.” ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งในศาสตร์ของทักษะการผลิตสื่อการเรียนรู้ดิจิตอล และศิลปะของการสื่อสารเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์แก่สังคม ในขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาสามารถนำความรู้จากการเรียนมาใช้ เพื่อฝึกปฏิบัติงานก่อนออกสู่ตลาดแรงงานในชีวิตจริง ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้
ด้าน ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. ได้ดำเนินการจัดการประกวดนิทรรศการเสมือน ประจำปี 2552 (NSM Virtual Exhibition Award 2009) ระดับอุดมศึกษา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยเราตั้งใจส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะและความสนใจของเยาวชน ในการนำเสนอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แปลกใหม่ในรูปแบบนิทรรศการอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตสื่อการเรียนรู้ดิจิตอล โดยเฉพาะในหัวข้อที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับภารกิจหลักของ อพวช. ในการสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดแก่สังคม โดยในปีนี้มีเยาวชน นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 23 ผลงาน ทั้งนี้ ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบตัดสินจำนวน 19 ทีม โดยทุกทีมได้รับทุนสนับสนุนในเบื้องต้นทีมละ 5,000 บาท เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงนิทรรศการ ซึ่งในรอบสุดท้ายนี้ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักวิชาการ นักสื่อสาร และผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะพิจารณาจากแนวความคิดในการนำเสนอ ทักษะในการจัดทำมัลติมีเดียแบบ interactive ความถูกต้องตามหลักวิชาการ ประกอบกับการออกแบบที่สวยงามสอดคล้องกับเนื้อหา เพื่อคัดเลือก 5 ผลงานที่ดีที่สุดเข้ารับรางวัล ได้แก่
1. รางวัลชนะเลิศ นายวีระวัฒน์ วังสองชั้น จาก มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย เรื่อง “กระรอกเหินเวหา”
2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีม Gear Man นายสรวิศ ปรักกมลกุล และ นายณัฐดนัย ฐิตวัฒนพงศ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “อาหารกระป๋อง”
3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวอ้อมใจ เทียมเมฆา จาก มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย เรื่อง “กบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย”
4. รางวัลชมเชย นางสาวสุพรรณษา โชติรัตน์ จาก มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย เรื่อง “400 ปี กาลิเลโอ”
5. รางวัลชมเชย ทีม PERSPECTIVE นายจิรวุฒิ ชมจันทร์ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรื่อง “ผลไม้”
6. รางวัลชมเชย นายอุเทน ประสาทชัย จาก มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย เรื่อง “ผลไม้”
ผู้เขียนข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์
ภาพโดย : สุนิสา ภาคเพียร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี